xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานโวย นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน อ้างพิษน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานโวย! นายจ้างไม่ไล่ออก แต่ไม่จ่ายเงินเดือน อ้างพิษน้ำท่วม วอน ก.แรงงาน เจรจาสถานประกอบการจ่ายค่าชดเชย-ชี้แจงวันเปิดทำการ ห่วงแรงงานวัยชราหางานใหม่ยาก หากถูกให้ออก กสร.ชี้ กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างพร้อมจ่ายชดเชยแทน ด้านแรงงานพม่า เผย ต่างด้าวโดนเบี้ยวค่าจ้างเหมือนกัน แต่ไม่มีช่องทางร้องทุกข์-สื่อสาร ไม่รู้เรื่อง แนะ ก.แรงงาน ตั้งล่ามพม่าประจำพื้นที่ต่างด้าวหนาแน่น

วันนี้ (5 ม.ค.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมทั้งลูกจ้างจำนวนหนึ่งของบริษัท ไดนามิค โปรโมชั่น จำกัด จ.สมุทรสาคร และแรงงานบางส่วนจาก จ.อยุธยา ได้เข้าร้องเรียนต่อ นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ในกรณีที่ลูกจ้างเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.54 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากทางบริษัท ว่า จะจ้างต่อหรือไม่ เพราะไม่มีประกาศวันเปิดกิจการจากทางบริษัท

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ทาง กสร.เร่งรัดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย อัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้าง นับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.54-31 ธ.ค.54 ให้กับลูกจ้างทุกคน และจ่ายค่าจ้างเต็มตามอัตราค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.55 เป็นต้นไป เนื่องจากโรงงานของนายจ้างสามารถดำเนินการป้องกันน้ำท่วมได้ และสามารถเปิดกิจการได้แล้ว แต่ก็ยังคงไม่เปิดดำเนินการโดยไม่แจ้งเหตุผล และวันเปิดดำเนินการให้ลูกจ้างทราบ

ด้าน นายอาทิตย์ กล่าวว่า ลูกจ้างที่มีความประสงค์จะออกจากงาน ก็สามารถเขียนใบคำร้อง เพื่อขอรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ ส่วนลูกจ้างบางส่วนที่เป็นผู้สูงอายุนั้น หากไม่ประสงค์จะออกจากงาน ทาง กสร.ก็จะเข้าไปเจรจาให้เพื่อขอความชัดเจนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า ทางแกนนำ คสรท.และลูกจ้างที่ประสบปัญหาจะหารือร่วมกันอีกครั้งถึงแนวทางช่วยเหลือ เพราะในส่วนของลูกจ้างที่อายุมากยังคงต้องการกลับเข้าทำงาน เพราะมีความเสี่ยงที่เมื่อออกจากงานแล้วจะไม่มีงานใหม่รองรับ

ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้อง คร.7 เพื่อขอใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยบางส่วน คือ กรณีค่าจ้างค้างจ่ายจะได้ในอัตราค่าจ้างรายวัน 60 เท่า ส่วนค่าชดเชยจะได้ตามอายุงานใน 3 อัตรา คือ ทำงาน 120 วัน ไม่เกิน 3 ปี ได้ค่าชดเชย 30 เท่า ทำงาน 3 ปี ไม่เกิน 10 ปี ได้ค่าชดเชย 60 เท่า และ ทำงาน 10 ปีขึ้นไปได้ 90 เท่า ของค่าจ้างรายวัน ส่วนอัตราที่เหลือในอัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่าย กสร.จะไปติดตามจากนายจ้างมาจ่ายให้ครบต่อไป

สำหรับอัตราค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หากเลิกจ้างลูกจ้างใน 5 อัตรา คือ ทำงาน 120 วัน ไม่เกิน 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 30 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ ทำงาน 1 ปี ไม่เกิน 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 เท่า ทำงาน 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 เท่า ทำงาน 6 ปี ไม่เกิน 10 ปี ได้ค่าชดเชย 220 เท่า และทำงาน 10 ปีขึ้นไป ได้ค่าชดเชย 300 เท่า โดยทุกอัตราจะต้องคูณกับค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของแต่ละพื้นที่

ส่วน นายโกนาย ชาวพม่า จากมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวมีปัญหาถูกเบี้ยวค่าจ้าง และเลิกจ้าง จากปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน จากที่ได้รับร้องเรียนมา มีชาวพม่าจาก จ.ปทุมธานี กว่า 245 คน ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และใน จ.นครปฐม ได้รับร้องเรียนว่า ไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ที่ 300 บาท แต่จ่ายจริง 285 บาท ซึ่งทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม พอแรงงานต้องการลาออกนายจ้างกลับยึดหนังสือเดินทางไว้

“ผมได้เข้าร้องเรียนที่ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแล้ว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าแรงงานต่างด้าวสื่อสารไม่รู้เรื่อง จึงอยากเรียกร้องให้ทาง กสร.เข้าเจรจากับนายจ้าง และช่วยจัดหาล่ามสำหรับแรงงานต่างด้าวประจำแรงงานจังหวัด ในส่วนพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่หนาแน่น เช่น อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น” นายโกนาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น