xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 9 บิ๊กโปรเจกต์การศึกษาปี 55 ‘วรวัจน์’ กอดเก้าอี้ เค้นผลงานสู้!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

เริ่มต้นศักราชใหม่ 2555 ทิศทางการศึกษาไทย ภายใต้การกุมบังเหียนของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ที่น่าจับตามากที่สุดไม่พ้น การบ้าน 9 โครงการสำคัญที่ “ครูแมว” ได้มอบให้ผู้บริหาร ศธ.เร่งเดินเครื่องให้เห็นผล

สำหรับ 9 โครงการ ได้แก่ โครงการ “2555 ปีแห่งการรณรงค์พูดภาษาอังกฤษ” หรือ English Speaking Year 2012 ที่ให้เด็กและครู พูดภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ1 วัน ซึ่งประเดิมเปิดตัวสร้างสีสันส่งท้ายปีไปแล้ว การตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อเปิดสอนปริญญาตรีสายปฏิบัติการให้สำเร็จหลังจากยืดเยื้อมานาน

โครงการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแบบพกพา หรือ One Tablet per Child ซึ่งเป็นบิ๊กโปรเจกต์เร่งด่วนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตั้งเป้าแจกนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 กว่า 4.5 แสนคน มีแท็บเล็ตไว้ใช้เรียนได้ทันเดือน พ.ค.ปีการศึกษา 2555 ซึ่งจะเชื่อมโยงกับหลักสูตรพัฒนาศักยภาพ หรือ หลักสูตรมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการ หรือที่ให้ สพฐ.ไปทำร่วมกับมหาวิทยาลัยที่จะต้องนำมาบรรจุใส่แท็บเล็ต การจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ต้องไปจัดทำร่างที่บูรณาการ 20 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ 2555 ของ ศธ.ที่จะเปิดเผยสู่สาธารณชนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการการปรับปรุงพัฒนาโทรทัศน์เพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ETV, การส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศออสเตรเลีย, การส่งเสริมให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รับผิดชอบดูแลศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน และการผลักดันให้เกิด กองทุนตั้งตัวได้ ขึ้นมารองรับศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน

ทว่า ในรอบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนขั้วจากรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อเดือน ส.ค.2554 ถือว่างานการศึกษายิ่งกร่อยลงไปถนัดตา
โดยก่อนเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนั้น ศธ.ในช่วงปลายสมัยอดีต รมว.ศึกษาธิการ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ได้ฝากผลงาน “กองทุนครูของแผ่นดิน” ซึ่งสามารถระดมเงินเข้ากองทุนได้ทะลุ 120 ล้านบาท สานต่อนโยบายเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพในปีที่ 3 พร้อมผลักดันจนเกิดการปฏิรูปการศึกทศวรรษที่ 2 (2551-2561) ซึ่งได้คลอดโครงการมากมายมารองรับแต่น่าเสียดายที่ยังไม่ทันเดินไปจนสุดทาง เพราะเมื่อหมดยุค ปชป.ปฏิรูปการศึกษา ก็มีอันต้องยุติ

จากนั้นนโยบายการศึกษาก็เปลี่ยน โดยมุ่งเน้น “การศึกษาเพื่อการมีงานทำ” มากขึ้น ส่งเสริมความรู้และทักษะอาชีพในทุกระดับการศึกษา เพื่อให้พร้อมต่อการป้อนสู่ตลาดแรงงานทันทีที่ประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ทั้งนี้ เพราะนโยบายการศึกษาที่ต่างไป ทำให้ช่วงเวลากว่า 5 เดือนช่วงท้ายปี 2554 นั้น ศธ.จึงเสียเวลาไปกับการปรับปรุงแผนงานและโครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกัน รวมไปถึงตัวเลขงบประมาณในปี 2555 ก็ถูกปรับรื้อใหม่ด้วย และเพราะประเทศไทยประสบวิกฤตมหาอุทกภัยในวงกว้าง จึงทำให้งานของ ศธ.จึงเหมือนเด็กในวัยกำลังฝึกคลาน

นอกจากนั้น‘นายวรวัจน์’ ยังเข้ามาโละทิ้งโครงการเก่าๆ จะเว้นไว้ก็เพียงโครงการเรียนฟรีฯ โดยปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ ให้ผู้ปกครองได้เลือกสรรรายการได้ตามต้องการ ขณะเดียวกัน ผลงานเก่าๆ ซึ่งเคยริเริ่มไว้สมัย “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 ที่เพิ่งเปิดตัวก่อนหมดปีไม่นาน รวมถึงการรื้อกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อปล่อยกู้ในสาขาที่ขาดแคลน และเป็นความต้องการของประเทศโดยไม่จำกัดรายได้ครอบครัว แถมใจกว้างให้เริ่มใช้หนี้คืนได้ เมื่อมีเงินเดือนขั้นต่ำที่ 16,000 บาท ส่วนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็ถูกเก็บเข้ากรุไปโดยปริยาย

ดังนั้น ในปี “มังกรคะนองน้ำ” หากขาเก้าอี้ “ครูแมว” ยังแข็งแรงดี ไม่ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเสียก่อน ก็อาจจะได้เห็นผลงานเห็นฝีมือแท้จริงกันคราวนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น