xs
xsm
sm
md
lg

คลังเสนอโมเดลดูแลระบบการเงินการคลังสุขภาพ‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังหวังหาทางออก  กรณีข้อกังขาระบบประกันสุขภาพ   เสนอโมเดลดูแลระบบการเงินการคลังในอนาคต ดึง 3 กองทุนจัดทำค่าวินิจฉัยโรคร่วม DRG ให้ราคาเท่ากันทั้งประเทศ 

วันนี้ (26 ธ.ค.)  ที่โรงแรมพูลแมน บางกอก พิงพาวเวอร์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง  กล่าวในงานประชุมภาคีเครือข่ายเพื่อระบบสุขภาพที่ดีกว่าของคนไทย หรือ   2011 Thailand Healthcare Summit หัวข้อ  “ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศไทย”  ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายฯ อาทิ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)  ฯลฯ ว่า  ปัจจุบันระบบบริการสุขภาพของไทยมี 3 ระบบ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กองทุนประกันสังคม (สปส.) และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยแต่ละกองทุนมีระบบการเงินการคลังที่แตกต่างกัน  การคำนวณงบประมาณก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะราคายา  ซึ่งราคายาที่ไม่เหมือนกันย่อมเป็นปัญหาของการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 
 
นายกุลิศ กล่าวอีกว่า  เชื่อว่า ในการบริหารระบบประกันสุขภาพจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายยาของทั้ง 3 ระบบ  เรียกว่า เป็นโมเดลดูแลระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพในอนาคต   โดยทั้ง 3 กองทุนต้องร่วมมือกันในเรื่องอำนาจต่อรองต่อบริษัทยา  ในการกำหนดค่ากลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRG ให้ได้ค่ามาตรฐาน มีอัตราเฉลี่ยที่เท่ากันให้ได้มากที่สุด และต้องมีศูนย์ข้อมูลระบบการเงินการคลังของประเทศ (National Clearing house) เป็นศูนย์ให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านยาที่เป็นกลาง มีอัตรากลางที่ชัดเจน ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ส่งข้อมูล หรืออัตราราคากลางของกลุ่มยาชนิดต่างๆ โดยการทำงานเหล่านี้จะมีคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (คพคส.) ที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และมีสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) เป็นเลขานุการ  ซึ่งคณะกรรมการจะทำหน้าที่หาแนวทางแก้ปัญหาด้านระบบการเงินการคลังของประเทศ ว่า  ควรใช้มาตรการใดหรือระบบใดในการบริหารงบของแต่ละกองทุนให้คุ้มค่า และไม่แตกต่างกันจนเกินไป

นายกุลิศ   กล่าวด้วยว่า   กรมบัญชีกลางมีการควบคุมค่าใช้จ่ายยาในกองทุนสวัสดิการข้าราชการ มาตลอด โดยได้คัดเลือกสถานพยาบาลที่มีปัญหาใช้งบสูง จำนวน 34 แห่ง  ส่วนใหญ่พบในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้จัดทำบัญชียา โดยให้ยาแต่ละกลุ่มมีรหัสเฉพาะ อย่างยากลุ่มแก้ปวดหัว ตัวไหนมีฤทธิ์เหมือนกัน ต่างกันก็จะทำบัญชียาตรงนี้    โดยทำมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ปัญหาคือ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนมาก เนื่องจากติดปัญหาการรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีฤทธิ์แตกต่างกัน ก็ทำให้รหัสต่างกัน แต่บางกรณีก็อาจใช้รหัสเดียวกันได้ ซึ่งตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ต้องมีการปรับปรุง แต่หากวิธีนี้มีการปรับปรุงให้ดีเพียงพอ ก็ยังสามารถนำไปขยายใช้กับกองทุนอื่นๆ ได้     ซึ่งจะช่วยในเรื่องการจ่ายยาอย่างเป็นระบบ ไม่เกิดปัญหาการจ่ายยาเกินความจำเป็น   ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น