พิษณุโลก - ผู้ตรวจกระทรวงการคลัง และผู้แทนธนาคารโลก ลงพื้นที่ประเมินความเสียหายน้ำท่วม 7 จังหวัด เช็กข้อมูลป้อน “วีรพงษ์” ก่อนกู้เงินจากธนาคารโลก ประเมินการเกษตรเมืองสองแควหนัก ถนนพัง 402 ล้านบาท พบพิรุธยอดเสียหายบางส่วนเกินจริง ด้าน ปภ.ประเมินน้ำท่วมทำพังกว่า 4 พันล้าน
วันนี้ (17 พ.ย.) ที่ห้องประชุม 772 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และคณะผู้แทนธนาคารโลก ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามและประเมินความเสียหายจากอุทกภัย และจัดเก็บข้อมูลตามความต้องการของธนาคารโลก ที่ได้ให้ความช่วยเหลือไทย พร้อมกับทำแผนฟื้นฟูอุทกภัยบนข้อมูลเดียวกันทั้ง 7 จังหวัด นำเสนอแผนป้องกันน้ำท่วมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ
ทั้งนี้ ได้จัดเก็บข้อมูลและประเมินความเสียหายใน 4 ข้อหลัก คือ 1.การศึกษา 2.ความมั่นคงทางสังคม 3.ประปา-สุขอนามัย 4.คมนาคมขนส่ง และรวมเป็นความเสียหายเศรษฐกิจระดับประเทศ (พิษณุโลก)
นายกุลิศเปิดเผยว่า ธนาคารโลกลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมในภาคต่างๆ ใน 7 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ อยุธยา, ลพบุรี, ชัยนาท, นครสวรรค์ ฯลฯ และสุดท้ายมาเก็บข้อมูลที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งก็พบว่า พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายมากกว่าบ้านเรือน
สัปดาห์หน้าจะรวบรวมข้อมูลและนำส่งให้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป
“การเก็บข้อมูลความเสียหายน้ำท่วมครั้งนี้ ต้องการให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันทั้งหมด เพื่อที่ธนาคารโลกพิจารณาเงินกู้ เพราะคาดว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยอาจต้องเกิดขึ้นซ้ำอีก”
ด้านตัวแทนธนาคารโลกเปิดเผยว่า ผลการลงสำรวจด้านคมนาคม หรือถนนสาย Primary roads และ Secondary roads ในจังหวัดพิษณุโลกพบว่า มียอดความเสียหายทั้งสิ้น 402,800,000 ล้านบาท
ส่วนที่ ต.ชมพู อ.เนินมะปราง พบว่า มีการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมน้ำป่าหลากได้ มีการเตือนภัยและแผนป้องกันไว้ดีแล้ว ซึ่งก็ควรทำลักษณะนี้ในทุกแห่ง เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมอาจเกิดขึ้นซ้ำ แต่ในบางอำเภอ พบว่า ในพื้นที่ของแต่ละ อบต.ไม่มีการประสานแผนจัดการด้านน้ำเชื่อมติดต่อกัน ทำให้การป้องกันน้ำท่วมไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลการแจ้งของบประมาณสูง ต่างจากความเสียหายจริง บ้านเรือนบางหลังระบุว่าความเสียหายไป 3 หมื่นบาท แต่ลงดูสภาพจริงๆ ซ่อมเพียง 1 หมื่นบาทก็น่าจะพอ
“น้ำท่วมครั้งต่อไปธนาคารโลกอาจไม่ได้ลงพื้นที่จริงอีก แต่ใช้วิธีตรวจสอบทางภาพถ่ายดาวเทียมก็เพียงพอ เพราะได้ลงพื้นที่จริงทั้ง 7 จังหวัดมาแล้ว”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความเสียหายน้ำท่วมพิษณุโลก ตามรายงานของป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ปี 54 พบว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 อำเภอ 92 ตำบล 862 หมู่บ้าน บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 56,442 ครัวเรือน จำนวน 122,577 คน มีการอพยพ จำนวน 197 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย 23 ราย
ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมเป็นเงิน 3,106,777,000 บาท ผลกระทบภาคเกษตร ด้านพืชผลการเกษตร เช่น ข้าว พืชไร่ พืชสวนและอื่นๆ รวมพื้นที่ 681,211.75 ไร่ เป็นเงิน 1,604,733,313 บาท ด้านประมง รวมเป็นเงิน 11,201,115 บาท ด้านปศุสัตว์ รวมเป็นเงิน 4,795,965 บาท
ผลกระทบด้านอุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน แรงงาน คิดเป็นมูลค่า 4,747,300 บาท การท่องเที่ยว มูลค่า 5,330,600 บาท เศรษฐกิจ/SMEs/OTOP มูลค่า 14,123,680 บาท อื่นๆ มูลค่า 33,400 บาท ผลกระทบด้านคุณภาพชีวิต รวมมูลค่าความเสียหาย 92,330,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,844,072,373.00 บาท