xs
xsm
sm
md
lg

บีบรัฐเปิดช่องตั้งกองทุน เพิ่มทางเลือกรัฐลดภาระหนี้สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ณรงค์ชัย” ชี้ ไทยยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่ำ ฉุดสวัสดิการคนในประเทศต่ำตามไปด้วย แนะแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 เป็นจริงได้ รัฐต้องปั้นจีดีพี 6% ต่อปี พร้อมเร่งการลงทุนเพิ่มทั้งภาครัฐ-เอกชน ชงตั้งกองทุนรวมสาธารณูปโภค ทางเลือกลดภาระหนี้สาธารณะ ด้าน สคร.เผย เจรจา “กฟผ.-ประปา” ศึกษาข้อดีข้อเสียก่อนตั้งกองทุน คาดได้ข้อสรุปกลางปีนี้

นานณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในสัดส่วนที่ต่ำ ทำให้มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ประชาชนเองก็ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ดังนั้น หลังจากนี้ไปรัฐบาลจะต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น ทั้งน้ำ ไฟฟ้า ประปา ระบบขนส่ง เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ผ่านทั้งกฏหมาย PPP หรือการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐบาล รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ด้วย

ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเป็นกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาสังคมและชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจแข็งเกร่งขึ้นนั้น เศรษฐกิจของประเทศต้องขยายตัวระดับ 6% ถึงจะเป็นเช่นนั้นได้ แต่ในปัจจุบันขยายตัวอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเท่ากับว่าเราไม่สามารถดูแลสวัสดิการของประชาชนให้ดีขึ้นได้

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีสวัสดิการดีขึ้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต้องโต 6% ต่อปี ซึ่งนั้นหมายความว่า การลงทุนจะต้องขยายตัวเฉลี่ย 7.4% ต่อปี โดยสัดส่วนการลงทุนรวมต้องเพิ่มเป็น 29% จากปัจจุบันอยู่ที่ 22% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนต้องขยายตัวเฉลี่ย 4.5% ต่อปี และการลงทุนภาครัฐโต 5.9% ต่อปี

“ปัจจุบันการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐมีข้อจำกัด เนื่องจากงบประมาณส่วนใหญ่ถึง 80% เป็นงบประจำ ทำให้งบการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นมีอยู่อย่างจำกัดต้องใช้งบส่วนใหญ่ในการชำระหนี้หรือชำระเงินกู้ ประกอบกับรัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลจนถึงปี 2558 หากมีการลงทุนเพิ่มจะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 41.4% ดังนั้น วิธีการที่เหมาะสมในการเร่งการลงทุน คือ รัฐบาลต้องเร่งการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุนจากประชาชน และควรเร่งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น” นายณรงค์ชัย กล่าว

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ความชัดเจนของการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในเบื้องต้น ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้หารือกับรัฐวิสาหกิจไปแล้ว 2 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลของทั้ง 2 หน่วยงาน ว่าการใช้ช่องทางระดมทุนดังกล่าวมีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดยคาดว่าภายในกลางปีนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนที่เข้ามาคุยกับเราว่า หากสนใจจะจัดตั้งกองทุนดังกล่าวต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเราเองไม่ปิดโอกาสแม้จะเป็นเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ก็สามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนจะระดมทุนสำหรับเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และการประปานครหลวง (กปน.) มีแผนที่จะระดมทุนในโครงการขยายโรงกรองน้ำฝั่งธนบุรี มูลค่า 5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีอุปสรรคอยู่ว่า รัฐวิสาหกิจเหล่านี้สามารถกู้เงินในต้นทุนที่ถูกอยู่แล้ว จึงอาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเราเองก็จะพยายามจูงใจและทำความเข้าใจกับรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ว่า จะได้ประโยชน์อย่างไร อย่างในกรณีของกฟผ.เอง หากใช้ช่องทางระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐวิสาหกิจอื่นๆ กู้เงินได้สูงขึ้น

“การนำสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ มาจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น ไม่ได้หมายความถึงการแปรรูป หรือขายสมบัติชาติ เพราะเรากำหนดเอาไว้แล้วว่า รัฐวิสาหกิจนั้น ยังคงเป็นเจ้าของอยู่ และการจ่ายผลตอบแทนเอง ก็กำหนดให้เป็นการจ่ายตามผลการดำเนินงาน ไม่มีการรับประกันผลตอบแทนแต่อย่างใด” นายกุลิศ กล่าว

ด้าน นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สายงานกำกับดูแลผู้ประกอบหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในส่วนของ ก.ล.ต.เองขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่ในการจัดตั้งกองทุน ซึ่งในส่วนของหลักเกณฑ์การจัดตั้งต่างๆ ได้ออกประกาศมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงประเด็นทางภาษีเท่านั้น ซึ่งเร็วๆนี้เองจะมีการหารือเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจน ซึ่งในเบื้องต้น สำนักงาน ก.ล.ต.เสนอไปว่า ในตัวของกองทุนเองไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งรวมถึงเงินปันผลที่ผู้ลงทุนจะได้ ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

ส่วนหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ในเบื้องต้นกำหนดให้มีขนาดกองทุนต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท โดยต้องเป้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างประโยชน์ให้กับคนไทย ซึ่งในส่วนของการลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและโครงการที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จแต่ต้องไม่เกิน 30% โดยกองทุนต้องจัดคลาสหน่วยลงทุนออกเป็น 2 ประเภท คือ คล้ายหนี้ ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยที่รับความเสี่ยงได้น้อย ซึ่งในส่วนนี้จะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ส่วนประเภทที่สอง คือ คล้ายทุน ที่อนุญาติให้นักลงทุนสถาบันลงทุนเท่านั้น เนื่องความเสี่ยงค่อนข้างสูง และมีโอกาสได้ผลตอบแทนทั้งสูงกว่าและต่ำกว่าคลาสแรก ทั้งนี้ หลังจากระดมทุนแล้วกำหนดให้กองทุนต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

นายภูมิใจ อัตตะนันทน์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพสามารถระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้นั้น มีค่อนข้างมาก ทั้งขนส่งระบบราง พลังงาน รวมถึงระบบโทรคมนาคมด้วย ขณะเดียวกัน การเคหะแห่งชาติที่มีแผนจะพัฒนาแฟลตดินแดง ก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับพื้นที่รถไฟบริเวณมักกะสันที่มีโอกาสพัฒนาในอนาคต กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน

“การจัดตั้ง Infrastructure Fund เป็นเรื่องที่ดี แต่ขอให้มีการดูแลเรื่องราคาการใช้บริการโครงการของรัฐ เช่น ด้านขนส่ง ค่าไฟฟ้า ที่รัฐบาลต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งในส่วนของประชาชน ผู้ให้บริการ และผู้ลงทุน ดังนั้น จะต้องมีการสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการใดเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชย และโครงการใดเป็นการบริการที่ต้องแข่งขันเชิงพาณิชย์” นายภูมิใจ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น