xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา สคร.ยันรถไฟความเร็วสูงเกิดแน่-เล็งศึกษาโอกาสธุรกิจตามเส้นทางเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ที่ปรึกษา “สคร.” ยันโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่ล่มแน่ หลังเปิด Market Sounding สาย “ตะวันออก-เหนือ” แล้ว พร้อมเร่งดัน กม.PPPs เข้าสภารับแผนรัฐบาลดึงเอกชนร่วมลงทุน เผยรัฐบาลสั่ง “สนข.” ศึกษาโอกาสธุรกิจพื้นที่จุดจอด 13 จังหวัดสายเหนือ เล็งตั้ง “คลังสินค้า-นิคมอุตสาหกรรม” พร้อมใช้รถขนส่งสินค้าวิ่งเพิ่มช่วงรางว่าง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ว่า หากโครงการดังกล่าวผ่านขั้นตอนของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนสูงแล้ว การก่อสร้างโครงการดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ โดยน่าจะเริ่มต้นทำการก่อสร้างได้ในปี 2557

นายกุลิส กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำหน้าที่สำรวจความต้องการจากประชาชน และองค์กรต่างๆ เช่นหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจากจังหวัดในเส้นทางที่จะเป็นจุดจอดของรถไฟทั้ง 13 จุด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการลงทุนหรือพัฒนาโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดจอดรถไฟ เช่น การสร้างโกดังสินค้า หรือนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการศึกษาดังกล่าว สนข.จะลงไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา โดยตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากระบบรางของรถไฟความเร็วสูงนอกเหนือจากการขนส่งผู้โดยสาร เนื่องจากมองว่าเส้นทางรถไฟจะต้องมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ ขณะที่ช่วงเวลารอยต่อระหว่างขบวนนั้นรางจะไม่มีการใช้งาน จึงสามารถนำรถจักรสำหรับขนส่งสินค้ามาวิ่งในช่วงเวลาดังกล่าว แต่จะไม่เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงที่จะทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น เป็นเพียงการใช้ประโยชน์จากรางในด้านการขนส่งอื่นๆ เท่านั้น

ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจยังได้กล่าวถึงความกังวลของภาคเอกชนที่เกรงว่า โครงการดังกล่าวอาจเกิดภาวะชะงักงัน หรืออาจมีการชะลอโครงการหากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งว่า โครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในสองเส้นทางแรก ได้แก่ เส้นทางสายตะวันออก (กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-ระยอง) และสายเหนือ (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) รัฐบาลเห็นชอบให้มีการดำเนินการ และมีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ผ่าน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnerships : PPPs) ซึ่งในขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างนำเสนอให้ครม.พิจารณา และคาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาของสภาได้ภายในรัฐบาลนี้

นอกจากนี้ รัฐสภายังได้ให้ความเห็นชอบในร่างกรอบเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในทั้ง 5 เส้นทาง รวมทั้งมีการจัดทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ของเส้นสายตะวันออกและสายเหนือเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2553 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนประเทศต่างๆ ดังนั้น จึงถือว่าโครงการมีความคืบหน้าไปมากแล้ว เหลือเพียงแต่ผ่านขั้นตอนการทำ EIA และ HIA ก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้

“เข้าใจว่ าภาคเอกชนอาจมีความเป็นห่วง เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวมีการศึกษากันมานาน แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้ผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่คอยดูแลรับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าฝ่ายการเมืองจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ทางข้าราชการประจำก็ยังคงต้องดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะกับโครงการในลักษณะนี้ซึ่งถือเป็นการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำทั้งนั้น” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศยังเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ประเทศที่แสดงท่าทีให้ความสนใจในโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ได้แก่จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส โดยจีนนั้นให้ความสนใจในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือและเส้นทางสายใต้ เนื่องจากมองว่าจะเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟสายเวียงจันทน์-ท่านาแล้ง ที่จีนดำเนินการในสปป.ลาวอยู่ ขณะที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจเส้นทางสายเหนือ เนื่องจากมองว่ามีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยและประกอบธุรกิจอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นจำนวนมาก

สำหรับโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลตั้งแผนแม่บทไว้นั้น จะมีการดำเนินการใน 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม., กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กม., กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ระยะทาง 570 กม., กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม. และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-ระยอง ระยะทาง 221 กม. โดยจะเป็นการพัฒนาระบบราง Standard Gauge ความกว้าง 1.43 ม. ซึ่งจะต้องหาเส้นทางสำหรับก่อสร้างรางขึ้นใหม่ ขณะที่รถซึ่งใช้ระบบไฟฟ้าความเร็ว 250 กม./ชม.จะทำการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 229,809 ล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 โดยประมาณการจำนวนผู้โดยสารไว้ที่ 28,900 คนต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น