xs
xsm
sm
md
lg

“กทม.” ย้ำมีสิทธิชอบธรรมบริหารจตุจักร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“สุขุมพันธุ์” ย้ำมีสิทธิชอบธรรมบริหารตลาดนัดจตุจักร เตือนบ้านเมืองมีขื่อมีแปร ทำอะไรต้องเคารพกฎหมาย ชี้คนที่ชอบใช้กำลังหักหาญมีแต่อันธพาลเท่านั้น ระบุรอฟังมติ ครม.ใหม่หากมีสิ่งใดเปลี่ยนไปจากเดิมจะเสนอทบทวน ย้ำที่ผ่านมาวางตัวเป็นสุภาพบุรุษเสมอ

วันนี้ (25 ธ.ค.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงยืนยันสิทธิชอบธรรมในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ว่า กทม.มีสิทธิชอบธรรมในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2522 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2525 ที่ระบุว่าให้ กทม.ใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อจัดตลาดนัดและให้กำหนดค่าตอบแทนการใช้ที่ดินในอัตราที่ กทม.สามารถดำเนินการได้ แต่สัญญาเช่ามีขึ้นวันที่ 2 ม.ค. 2530 ซึ่งเกิดภายหลังมติ ครม 5 ปี ดังนั้น เมื่อ กทม.มีสิทธิอันชอบธรรมตามมติ ครม.ก็ย่อมมีต่อไปได้แม้สัญญาจะสิ้นสุดลง และทุกอย่างจะต้องกลับสู่สภาพเดิม คือ กทม.สามารถบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรโดยไม่เสียค่าเช่า เท่ากับสิทธิการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรของ กทม.จึงไม่เกี่ยวกับสัญญาเช่า

อย่างไรก็ตาม หากมีมติ ครม.ใหม่ออกมาเป็นอย่างอื่น กทม.ก็ยังมีสิทธิบริหารตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าข้อที่ 10 ซึ่งให้ กทม.บริหารได้ต่ออีก 6 เดือน เพราะฉะนั้นจะเอาวันที่ 2 ม.ค. 2555 มายึดไม่ได้ และ กทม.ก็มีสิทธิขอให้ ครม.ทบทวนมติกรณีที่ ครม.มีมติเป็นอย่างอื่นด้วย นอกจากนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 นั้นไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่ ร.ฟ.ท.ในการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ขณะเดียวกันจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทนก็ไม่ได้ หรือหากจะให้บริษัทเอกชนมาลงทุนก็ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ตามขั้นตอนกฎหมาย ดังนั้น อำนาจในการบริหารงานตลาดนัดจตุจักรของ ร.ฟ.ท.จึงขาดความชัดเจนเพราะฉะนั้น กทม.จึงมีความชอบธรรมเต็มร้อยทั้งทางกฎหมาย และทางศีลธรรม อีกทั้ง พ.ร.บ.บริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 ให้ กทม.มีอำนาจบริหารจัดการและควบคุมตลาด

“กทม.ได้รับมอบหมายมาแต่ปี 2525 ให้จัดหาที่ค้าขายแหล่งใหม่ให้ผู้ค้าที่สนามหลวง แต่แรกไม่มีคนยอมไปจนกระทั่งเราพยายามร่วมกันบุกเบิกให้ตลาดนัดจตุจักรเจริญรุ่งเรือง สามารถดูแลผู้ค้ารายย่อยจำนวนมาก และกลายเป็นตลาดที่เป็นที่ยอมรับมีชื่อเสียงระดับโลก ดังนั้นจุดยืนของ กทม.นั้นชัดเจนมาแต่แรกว่า และที่ผ่านมาเราเคารพสิทธิกับผู้เป็นเจ้าของมาโดยตลอด ที่ผ่านมาไม่เคยตอบคำถามที่สร้างความเสียหายแก่ รฟท.เพราะเราเคารพสิทธิ ทั้งที่รู้ว่ามีสิทธิเต็มร้อยและเป็นนโยบายของผมที่ต้องวางตัวเป็นสุภาพบุรุษ ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกต้องและวางตัวภายใต้กฎหมาย”ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านั้นเคยมีประชุมร่วมกันทั้งไม่เป็นทางการ และเป็นทางการระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. 2554 ซึ่งการเจรจาตั้งอยู่บนพื้นฐานความเห็นและความเข้าใจร่วมกันว่า กทม.พร้อมจัดการตลาดนัดจตุจักรต่อไป และพร้อมจ่ายในอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าเดิม และทันที่ที่ตนรับตำแหน่งผู้ว่าฯ ก็ได้สั่งการให้จ่ายหนี้ที่ค้างชำระ รฟท.ทันทีและดำเนินการเรียบร้อย นโยบายของตนชัดเจนว่าต้องการทำต่อเพื่อผู้ขายและผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ครั้งที่ 5/2553 วันที่ 31 พ.ค. 2553 ซึ่งคณะกรรมการ รฟท.ได้มีการว่าจ้างทีมที่ปรึกษาศึกษาว่าอัตราค่าเช่าเท่าไร ซึ่งการเจรจาในปี 2554 อยู่พื้นฐานต้องการให้เช่าเหมือนกัน แต่กลับมีปัญหาเรื่องอัตราค่าเช่า

“กทม.ไม่ได้มีปัญหาที่ตัวเลขเพราะเราพร้อมจ่ายค่าเช่าอัตราที่เป็นธรรม โดยเห็นว่าควรนำอัตราค่าเช่าขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) ที่เช่าที่ รฟท.เช่นกันควรมีระดับใกลักัน อตก.เช่าอยู่ที่อัตรา 779 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.)ต่อปี ขณะที่ตลาดนัดจตุจักรมีพื้นที่ 68 ไร่ คิดในอัตราเดียวกันจะเป็นเงิน 79 ล้านบาท ซึ่ง กทม.พร้อมจ่ายเพราะมีข้อมูลอ้างอิง แต่ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.เรียกร้อง 420 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเราไม่อาจรับได้แม้พ่อค้าแม่ขายพร้อมจะให้เราจ่าย แต่เราอธิบายไม่ได้โดยเฉพาะกับพ่อค้าที่ไม่อยากให้ขึ้นราคาค่าเช่า”ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หาก กทม.จะจ่ายอัตรา 420 ล้านบาทต่อปีนั้นก็มีทางเลือก 2 ทาง ซึ่ง กทม.รับไมได้ คือ 1.แปลงสภาพตลาดนัดจตุจักรให้กลายเป็นศูนย์การค้า ซึ่งแม้หาก กทม.ระดมทุนได้แต่ก็ขัดกับเจตนารมณ์เดิม เพราะตลาดนัดจตุจักรอาจจะหมดเสน่ห์ไปทันที เพราะเสน่ห์จตุจักรอยู่ที่ประชาชนรวมทั้งชาวต่างชาติเดินซื้อของเดินเที่ยวได้ โดยเฉพาะชาวต่างชาติชอบมากเพราะเขาเบื่อการเดินในตึก และ 2.การขึ้นค่าเช่าที่มีผลกระทบต่อผู้ขายและผู้บริโภค และการทำตามทางเลือกนี้จะทำให้ต่อไปตลาดนัดจตุจักรจะมีแต่ผู้ค้ารายใหญ่เข้ามาครอบครอง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของการตั้งตลาดนัดจตุจักร

“ขอเตือนทุกฝ่ายว่าบ้านเมืองต้องมีขื่อมีแปร ทุกหน่วยงานของรัฐรวมถึงรัฐบาลต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และถ้าหากข้อพิพาทระหว่าง ร.ฟ.ท.และ กทม.เกิดขึ้นจริง ก็มีขั้นตอนตามกฎหมายที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งจะส่งกำลังเข้ามายึด คนที่ทำเช่นนั้นไม่น่าจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบระดับสูงระดับชาติ คนที่ทำอะไรหักหาญอยากได้อะไรก็ส่งคนไปใช้กำลังแก้ไขปัญหามีแต่อันธพาลเท่านั้นที่ทำ ผมไม่ได้ว่าใครเป็นอันธพาลเพียงบอกว่าคนที่ใช้กำลังเป็นอันพาล แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่เคารพกฎหมายเขาไม่ทำ ดังนั้น ปีใหม่เทศกาลที่ดี ไม่ว่าใครก็ตามที่พูดว่าจะเข้ามาตลาดนัดจตุจักรวันที่ 2 ม.ค. 2555 ขอให้อารมณ์ดี คิดดีๆ หันหน้าเข้าหากันทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และผมไม่ยอมต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้องและอย่าคิดว่าผมจะยอม”

ถามว่าจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะฟ้องศาลปกครองหรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า จากนี้จะรอ มติ ครม. หากมีการเปลี่ยนแปลงไปก็จะเสนอให้ ครม.ทบทวน
กำลังโหลดความคิดเห็น