xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยเด็กกับการใช้แท็บเล็ต บทพิสูจน์...การศึกษาไทยถูกทาง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

“....แท็บเล็ตจะเป็นเพียงตัวช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียน เท่านั้น แต่ไม่สามารถมาแทนครูได้ เพียงแต่เป็นอุปกรณ์ที่ให้ครูและนักเรียนเลือกใช้ได้บางเวลา…”

เปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับ “โครงการนำร่องการประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐบาล” เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดงานและสักขีพยานในการรับมอบเครื่องแท็บเล็ต ระหว่างบริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 600 เครื่องที่บริจาคผ่าน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งต่อไปยังโรงเรียนนำร่อง 5 แห่งที่ได้รับคัดเลือกจาก สพฐ. ใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ซึ่งในวันดังกล่าวตัวแทนผู้บริหาร นักเรียนทั้ง 5 แห่งเดินทางมาร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ โรงเรียนนำร่องทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) โรงเรียนราชวินิต กทม. โรงเรียนอนุบาลลำปาง จ.ลำปาง โรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น โรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา โดยทดลองกับนักเรียนชั้น ป.1และ ป.4 ชั้นเรียนละ 1 ห้องๆละประมาณ 40-50 คน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 - กันยายน 2555 และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ก่อนหน้านั้น สพฐ.ได้ประกาศขอรับบริจาคแท็บเล็ตจากบริษัทเอกชน เพื่อใช้การเรียนการสอน โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันใดและได้รับการติดต่อมาหลายแห่ง แต่ในท้ายที่สุดตัดสินใจเลือก บ.เลอโนโว ด้วยเหตุผลว่าในการ การศึกษาวิจัยที่ มศว จะเป็นผู้ดำเนินการครั้งนี้นั้นจำเป็นต้องได้เครื่องที่มีคุณลักษณะหรือสเปกเดียวกัน

สำหรับแนวทางการศึกษาเบื้องต้นนั้น ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว ชี้แจงว่า การดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ครั้งนี้เป็นการดำเนินการระยะแรก ในภาพรวมได้กำหนดให้โรงเรียนสาธิต มศว (ฝ่ายประถม) เป็นโรงเรียนแกนกลางที่เชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายไปสู่ทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่ง มศว จะให้การสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน โดยเราจะวิเคราะห์และสังเคราะห์การใช้แท็บเล็ตของนักเรียน ป.1 และ 4 รวมถึงการติดตามผลกระทบทางการเรียนรู้จากการใช้แท็บเล็ตของนักเรียน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ การเรียนรู้ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักเรียน แต่หมายรวมถึงสภาพแวดล้อมรอบๆ ที่สำคัญคือ พฤติกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำวิชา ครูประจำชั้น รวมไปถึงผู้ปกครอง และชุมชนของโรงเรียนนำร่องด้วย นอกจากนี้ จะศึกษาด้วยว่าโอกาสในการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนรู้เพื่อการศึกษาใน 7 กลุ่มสาระวิชานั้น กลุ่มสาระวิชาใดมีโอกาสใช้แท็บเล็ตมาก กลุ่มวิชาใดมีโอกาสใช้น้อย เช่น วิชาภาษาไทย หากครูไม่มีทักษะการออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง ได้ดีการมีแท็บเล็ตก็สามารถช่วยได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขที่เคยศึกษา พบว่า เด็กประถมศึกษาที่ใช้แท็บเล็ตทำตก ร้อยละ 12 โดยเป็นการทำตกที่สามารถซ่อมแซมได้ ร้อยละ 7 และที่ซ่อมไม่ได้อีกร้อยละ 5 เพราะสาเหตุมาจากการตกน้ำ เพราะฉะนั้น มศว จะมีการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคลงไปดูแลกรณีโรงเรียนประสบปัญหาการใช้แท็บเล็ต รวมถึงการซ่อมแซมหากเกิดกรณีแท็บเล็ตตกหล่นด้วย

ผมยืนยันว่า แท็บเล็ตจะเป็นเพียงตัวช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียน เท่านั้น แต่ไม่สามารถมาแทนครูได้ เพียงแต่เป็นอุปกรณ์ที่ให้ครูและนักเรียนเลือกใช้ได้บางเวลา ไม่ได้ใช้ตลอดเวลา และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนการสอนบางอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น แต่ครูยังมีความสำคัญในการให้ความรู้ในด้านอื่น ๆ”อธิการ มศว กล่าวและว่า ท้ายที่สุด มศว จะสรุปผลจากโรงเรียนนำร่องทั้งหมดเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำหลักสูตรฝึก อบรม รวมทั้งจะจัดทำต้นแบบการบูรณาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ต

ด้านนางกฤตยา หินเธาว์ ครูประจำชั้น ป.1/1 โรงเรียนสนามบิน ให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นทางโรงเรียนมีการเตรียมห้องสำหรับจัดเก็บเครื่องแท็บเล็ต โดยจะให้นักเรียนได้ใช้แท็บเล็ตในชั่วโมงการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น คือ วิชาใดต้องใช้แท็บเล็ตก็นำมาใช้เมื่อเรียนเสร็จก็นำไปเก็บ โดยไม่ให้นำกลับบ้านซึ่งหากมีการบ้านก็จะใช้วิธีแจกชีทให้ไปทำที่บ้าน ทั้งนี้ เพราะเราเป็นห่วงอย่างเด็ก ป.1 ถ้าเขาวิ่งเล่นไม่ทันระวังก็อาจจะตกหล่นได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ปกครองนั้นทางโรงเรียนก็จะเตรียมทำความเข้าใจต่อไปด้วย

ขณะที่ด.ญ.ฑิฆัมพร บุตรสามาลี ชั้น ป.1 และ ด.ญ.ภักจิราวดี จุลมา ชั้น ป.4 โรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น บอกถึงความรู้สึกที่จะได้ใช้แท็บเล็ต ว่า “ตื่นเต้น มากค่ะ หนูไม่เคยรู้จักแท็บเล็ตมาก่อนแต่พอรู้จากครูว่าจะได้ใช้แท็บเล็ตในการเรียน ก็เลยไปบอกแม่ พอดีเพื่อนแม่มีแท็บเล็ตก็เอาให้หนูดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไรเล่นอะไรได้บ้าง หนูว่าเครื่องเล็กพกพาง่ายดี และปกติหนูก็ใช้งานคอมพิวเตอร์อยู่แล้วทั้งที่บ้านและโรงเรียนตั้งใจว่าถ้า ได้ใช้แท็บเล็ตจะเอาไว้หาข้อมูล

จากวันนี้คงต้องรอดูผลการศึกษาการใช้แท็บเล็ตใน 5 โรงเรียน นำร่อง ที่ รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ มศว ไปดำเนินการครั้งนี้นั้นจะช่วยคลายข้อกังวลใจทั้งความเหมาะสมของวัยวุฒิ ผลกระทบจากการใช้งานในด้านสุขภาพ หรือที่กลัวว่าเด็กจะเล่นเกมมากกว่าหาความรู้ ที่ได้รับการติติงมาต่อเนื่องจากนักวิชาการ เอ็นจีโอ และผู้ปกครองนับแต่การประกาศนโยบายแจกแท็บเล็ตได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น