อาจารย์นักวิจัย มศว ห่วง โครงการ English Speaking Year 2012 ล้มเหลว แนะนำงานวิจัยมาเป็นคิดพัฒนาต่อยอด และพัฒนาครู รวมทั้งปรับการเรียนการสอนเน้นเรื่องราวใกล้ตัวที่ผู้เรียนอยากรู้ แต่ต้องยืดหยุ่นและเข้าใจพื้นฐานเด็กที่มีความแตกต่างกัน ด้าน ผอ.ร.ร.สาธิตฯ ชี้ ร.ร.ที่มีขาดความพร้อมอุปกรณ์และงบประมาณจะทำเรื่องนี้ได้ยาก
รศ.ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ อาจารย์ประจำสาขาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ นักวิจัยด้านการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษากลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการพัฒนาการรู้หนังสือเพื่อปวงชน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงนโยบายจัดทำโครงการ English Speaking Year 2012 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยในปี พ.ศ.2558 ว่า ถ้ารัฐบาลไม่พัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง การทำโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเท่าที่ได้ทำงานวิจัยเรื่องการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา รวมถึงประสบการณ์การสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาท้องถิ่นในมาเกือบทั่วโลกนั้น เห็นได้ชัดว่า การเรียนภาษาต้องเน้นเรื่องราวที่ผู้เรียนต้องการรู้ และต้องนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องยอมรับด้วยว่าการเรียนภาษนั้นเป็นเรื่องทักษะและผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ครูผู้สอนต้องมีวิธีการการจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นและเข้าใจเด็ก แต่การสอนของประเทศไทยในปัจจุบันยังเน้นไวยากรณ์ ท่องจำ ซึ่งทำให้เด็กเบื่อหน่าย อีกทั้งครูผู้สอนก็จบไม่ตรงสาขาด้วย
“การ เรียนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆต้องเรียนรู้จากสถานการณ์ ควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์รอบด้าน จะมีอิทธิพลในการสื่อความหมายของคนในสังคมนั้นๆ การเรียนภาษาจึงต้องเป็นเรื่องธรรมชาติ เน้นความสนุก ครูและนักเรียนจึงต้องตื่นตัวกับการทำกิจกรรมตลอดเวลา หาก ศธ.จะทำนโยบายเรื่องนี้จริง อยากจะให้ดูงานวิจัยของดิฉันที่ มศว ซึ่งทำมากว่า 20 ปี ซึ่งหลายประเทศจากทั่วโลก อย่าง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เนปาล อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อียิปต์ ตุรกี เซาท์แอฟริกา ญี่ปุ่น ใช้งานวิจัยของ มศว เป็นโมเดลในการสอนภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นให้กับคนที่ไม่รู้หนังสือในประเทศของพวกเขา ดังนั้น อยากให้ ศธ.ทำงานด้วยหลักคิดเอางานวิจัย ประสบการณ์ตรงที่มีคนทำวิจัยและเป็นที่ยอมรับเพื่อผลักดันให้โครงการเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.เสาวลักษณ์ กล่าว
รศ.ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า หากเราเริ่มด้วยฐานคิดงานวิจัย พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการสอนภาษาอังกฤษ เปลี่ยนการสอน พัฒนาอบรมครู และเริ่มต้นการสอนพูดอ่านเขียนกับเด็กในระดับประถมต้นตามโมเดลที่ตนเคยทำให้ ประเทศต่างๆ เพียง 3 ปี เด็กไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภาษาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การสอนภาษาเพื่อให้เราใช้ภาษาได้จริงและก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากเราไม่ปรับแนวทางต่างๆ และเอาแต่ให้นโยบายบนฐานคิดเพ้อไปวันๆ รูปธรรมก็ไม่เกิด แนวคิดดีๆ ก็น่าเสียดาย
นางสุภาภักตร์ ปรมาธิกุล ผอ.โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) กล่าวว่า ทางสาธิต มศว ประสานมิตร และสาธิตในเครือ มศว มีการเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นกว่าเดิม มีการจ้างครูชาวต่างประเทศมาสอนโดยตรง ซึ่งโรงเรียนอื่นๆ ที่เขาไม่มีงบประมาณ ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือในการสอนนักเรียนคงจะทำตามนโยบายของ ศธ.ได้ยาก อาจทำได้ในบางโรงเรียนซึ่งเขาก็ทำกันอยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนอื่นๆ จำนวนถึง 30,000 โรง คงเป็นเรื่องลำบาก และหากทำแบบไฟไหม้ฟางอย่างไม่ต่อเนื่องจะไม่ได้ผล