xs
xsm
sm
md
lg

วธ.อึ้ง! “เชื้อรา” ขึ้นรอบพระปรางค์วัดอรุณฯ อัดฉีด 5.4 ล้านบูรณะสวยดังเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.วธ.พร้อมคณะ ตรวจสภาพพื้นที่โดยรอบพระปรางค์ วัดอรุณฯหลังได้รับรายงานพบการทรุดตัวของดิน
“สุกุมล” ผนึก กรมศิลป์ รุดตรวจสอบดินทรุด วัดอรุณฯ พบต้นเหตุดินสไลด์หลังถูกน้ำท่วม อึ้งพบปัญหาใหม่ “เชื้อรา” กัดกินรอบองค์พระปรางค์จนหมอง พร้อมอัดฉีดงบ 5.4 ล้าน อนุรักษ์ บูรณะพระปรางค์ให้สวย เพราะหน้าตาประเทศ

วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่วัดอรุณราชวราราม นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วย นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร และผู้บริหารระดับสูง ได้เดินทางมาตรวจสอบบริเวณที่ทรุดตัวตามแนวกำแพงโบราณ โดย นางสุกุมล กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่า มีการทรุดตัวของดิน บริเวณ กำแพงโบราณ ซึ่งตั้งอยู่โดยรอบองค์พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกร จากกรมศิลปากร มาตรวจสอบ โดยการเปิดหน้าดิน ยกอิฐบล็อกออก และเปิดท่อระบายน้ำ บริเวณใกล้เคียง พบสาเหตุเบื้องต้น ว่า ทรายที่อยู่ในส่วนชั้นล่างของดินมีการไหลและสไลด์ตัว และมีบางส่วนไหลตามน้ำ เนื่องจากบริเวณนี้มีความชื้นตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมา เกิดภาวะฝนตกต่อเนื่อง น้ำท่วม และมีการรดน้ำบริเวณนี้ทุกวัน จึงมีการสะสมของน้ำ เกิดการทรุดตัวของทรายไหลออกไป ทำให้เกิดช่องว่าง และทรุดตัวลง ประกอบกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทางวัดได้มีการใช้รถบรรทุกขนทรายเพื่อมาป้องกันน้ำท่วมจำนวนมาก พื้นดินจึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้

อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกร ตรวจสอบถึงสาเหตุแล้ว ได้เสนอแนวทางการป้องกันเบื้องต้นว่า จะมีการนำทรายมาผสมกับซีเมนต์ เพื่อปูทับชั้นล่างก่อน โดยมีความลึก 30 เซนติเมตร จากนั้น จะปูด้วยทรายซีเมนต์ อีก 8 เซนติเมตร และจะนำทรายมาอัดให้แน่นอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงนำอิฐขึ้นมาปูบนพื้นผิวด้านบนสุด คาดว่าจะแก้ปัญหาการทรุดตัวของพื้นดินได้

นางสุกุมล กล่าวต่อว่า กรมศิลปากร ได้เปิดดูแนวท่อระบายน้ำ ปรากฏว่า มีน้ำขังอยู่ประมาณ 40 เซนติเมตร ตลอดเวลา ซึ่งเวลานี้น้ำน่าจะแห้งแล้ว และจากการหารือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า ควรเพิ่มบ่อพักน้ำ และมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ถ้าเกิดระดับน้ำสูง ลูกลอยจะทำงาน และเครื่องสูบน้ำจะสูบออกทันที
สภาพภาพภายนอกองค์พระปรางค์ฯ เป็นสีดำเพราะ เชื้อรา กัดกิน
ถ้าถามว่า การทรุดตัวของดินในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อองค์พระปรางค์หรือไม่นั้น ดิฉันต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า การก่อสร้างในสมัยโบราณมีความแข็งแรงมาก มีการนำท่อนซุงมาวางเป็นฐานราก ทางผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ดินทรุดตัวครั้งนี้ คงไม่มีผลกระทบต่อองค์พระปรางค์ ทว่า กลับมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง ก็คือ องค์พระปรางค์ในเวลานี้มีความชื้นมาก โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่โดนแดด พบว่า มีเชื้อราขึ้นรอบองค์พระปรางค์ ตรงนี้น่าเป็นห่วงมากกว่า ขณะนี้จะเห็นว่าสภาพภายนอกองค์พระปรางค์ เกิดเป็นสีดำคล้ำทั้งองค์ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ เชื้อราจะกัดกร่อนองค์พระปรางค์ จนเกิดการหลุดร่อนของปูนที่ฉาบอยู่รอบองค์พระปรางค์ ดิฉันจึงกำชับให้เร่งแก้ปัญหาเชื้อรา” นางสุกุมล กล่าว

รมว.วธ.กล่าวต่อว่า ตนมอบให้กรมศิลปากร นำกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ มาขัดเชื้อราออกอย่างเร่งด่วน เพราะวัดอรุณถือว่าเป็นวัดสำคัญที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหล เข้ามาชมจำนวนมาก และเป็นหน้าตาของประเทศ ในระยะยาว จะมีการตรวจสอบผังของทางระบายน้ำ ซึ่งทางวัดยอมรับว่า ไม่มีการเก็บแผนผังการระบายน้ำไว้ เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาโบราณ และไม่มีการถ่ายทอด จึงได้ให้กรมศิลปากร ไปดูว่า มีการเก็บแบบไว้หรือไม่ สำหรับงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนการบูรณะครั้งนี้ ได้รับอนุมัติมาแล้ว 5.4 ล้านบาท

ด้าน นายธราพงษ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวว่า จุดที่ดินทรุดตัวนั้นเป็นบริเวณที่ลุ่มที่สุดของวัดอรุณฯ เมื่อฝนตก หรือน้ำท่วม น้ำจะขังอยู่บริเวณนั้น ส่งผลให้ทรายทรุดตัวลง ยิ่งน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ทรุดตัวลงมากขึ้น ส่วนวิธีการซ่อมโดยนำทรายผสมซีเมนต์แล้ว ยังมีข้อเสนอให้ใช้แผ่นสังเคราะห์กันดินไหลด้วย ซึ่งวิธีนี้น้ำสามารถไหลผ่านได้ แต่มวลดินผ่านไม่ได้ สำหรับเชื้อราบริเวณองค์พระปรางค์นั้น จะใช้วิธีการขัดเชื้อราออก ซึ่งเป็นไปตาม การดูแลรักษาโบราณสถานในรอบ 5-6 ปี จะมีการขัดเชื้อราออก 1 ครั้ง ซึ่งวัดอรุณก็ถึงเวลาที่จะต้องขัดเชื้อราออกแล้ว ส่วนวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา ยังไม่สามารถทำได้ เพราะเนื้อขององค์พระปรางค์ มีปูนที่ฉาบแบบโบราณ

พระครูอรุณธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กล่าวว่า รมว.วธ.และผู้บริหาร เข้ามาตรวจสอบพื้นที่แล้วเร่งดำเนินการแก้ไขนั้น ทางวัดก็หมดความกังวลใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาดำเนินการปรับพื้นที่ใหม่ก็จะคอยตรวจสอบว่าจะมีการทรุดตัวของพื้นดินอีกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น