xs
xsm
sm
md
lg

วัดอรุณฯดินทรุด หวั่นกระทบพระปรางค์พัง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ เผย ดินทรุดตัวยาว 2 เมตร ลึก 1 ฟุต หลังกำแพงโบราณ หวั่นกระทบพระปรางค์พัง วอนกรมศิลปากร ตรวจสอบความมั่งคง ด้าน ผอ.สำนักโบราณคดี เตรียมค้นหาต้นเหตุดินทรุดและเตรียมบูรณะให้มั่นคง

วันนี้ (19 ธ.ค.) พระครูอรุณธรรมานุวัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในฐานประธานฝ่ายภูมิทัศน์และพิธีการ  เปิดเผยว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ทางวัดอรุณ ได้ดำเนินป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่ ทำให้วัดรอดจากการถูกน้ำท่วม อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ทางวัดยังต้องสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา พบการทรุดตัวของพื้นลานหน้าพระปรางค์วัดอรุณ มีความยาวประมาณ 2 เมตร ลึกประมาณ 1 ฟุต ซึ่งพื้นที่ที่ทรุดอยู่ห่างจากองค์พระปรางค์ไม่ถึง 10 เมตรซึ่งแนวดังกล่าวอยู่บริเวณกำแพงริมแม่น้ำเดิมที่มีอายุมากกว่า 70-80 ปี ถ้าเป็นพื้นที่แนวกำแพงริมแม่น้ำใหม่ทางวัดจะไม่กังวล เพราะมีการถมแม่น้ำออกไป แต่จุดที่ทรุดอยู่ในแนวพื้นที่กำแพงริมแม่น้ำเก่าเกรงว่าหากมีทรุดตัวเพิ่มขึ้นอาจทำให้พระปรางค์ทรุดเอียงหรือพังลงมาได้

พระอรุณธรรมานุวัตร กล่าวว่า การป้องกันน้ำท่วมมีการก่ออิฐ เสริมกระสอบทรายในพื้นที่โดยรอบ จากเดิมกำแพงสูง 2.80 เมตร เสริมขึ้นไปเป็น 3 เมตร ที่น่าแปลกใจก็คือ น้ำไม่ท่วมแต่ทำไมพื้นที่ภายในกำแพงเดิมถึงทรุด โดยกำแพงเดิมจะทำเป็นฟันปลาซิกแซก เพื่อลดแรงปะทะของน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ทำเป็นเขื่อนแนวตรงทำให้พื้นที่ของกำแพงวัดปะทะกับน้ำโดยตรง ขณะเดียวกัน พื้นที่ภายในวัดอรุณโดยเฉพาะบริเวณองค์พระปรางค์จะมีโพรงหรือท่อน้ำที่เข้ามาถึงองค์พระปรางค์ได้ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นหรือหน้าน้ำหลากน้ำท่วม ก็จะเข้าท่วมบริเวณฐานขององค์พระปรางค์วัดอรุณก่อน จะเหมือน “องค์พระปรางค์ลอยน้ำ”

ขณะนี้เราไม่รู้ว่าใต้พื้นดินที่ทรุดและภายใต้ฐานองค์พระปรางค์ จะเป็นโพรงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากระบบวิศวกรสมัยก่อนเขาจะขุดให้เป็นโพรงแล้วนำท่อนซุงมาวางเพื่อเป็นฐานราก มีการวางระบบท่อโบราณเช่นไรมีการอุดตันหรือไม่ หากปล่อยทิ้งไว้เกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อพื้นที่และองค์พระปรางค์ได้ อยากให้กรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบการทรุดตัว ซึ่งความรู้สึกของคนไทย หรือคนที่เห็นอาจจะรู้สึกเฉยๆว่ามีการทรุดตัวเล็กน้อย แต่อาตมาไม่คิดเช่นนั้น เพราะมันอยู่หลังกำแพงเก่าที่ดินมีการถมมานานมากแล้ว และไม่เคยเห็นการทรุดตัวลักษณะนี้มาก่อน หากปล่อยไว้แล้วเกิดผลกระทบรุนแรงขึ้น มาจะสร้างความเสียหายต่อองค์พระปรางค์ ซึ่งเป็นหน้าตาของประเทศได้” พระอรุณธรรมานุวัตร กล่าว

ด้านนายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตนจะเข้าไปตรวจสอบความเสียหายของการทรุดตัวหลังกำแพงเดิมภายในพื้นที่วัดอรุณฯ ว่า สาเหตุทรุดตัวเกิดจากอะไร แล้วจะเกิดผลกระทบต่อองค์พระปรางค์หรือไม่ ต้องลงไปสำรวจความเสียหายก่อน จากนั้นค่อยซ่อมแซม เพื่อให้เกิดความมั่นคง

อนึ่ง พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชปรารภสร้างพระปรางค์ในวัดอรุณฯ ซึ่งเดิมสร้างสูง 16 เมตรนั้น ให้สูงขึ้นอีก เพื่อเป็นศรีแก่พระนคร แต่พอทรงกำหนดแผนผังที่จะสร้างใน พ.ศ. 2363 ได้รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางรากฐานแล้ว ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้ดำเนินการสร้างพระปรางค์ต่อ และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ 2 กันยายน พ.ศ. 2385  พอสร้างเสร็จจนถึงยกยอดนภศูล และพระมหามงกุฏไว้บนยอด แต่ไม่ทันจัดงานฉลองก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนใน พ.ศ.2394 ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ ให้จัดงานฉลอง ทั้งนี้องค์ประปรางค์ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  สูง 81.85  เมตร  วัดรอบฐาน  234  เมตร ปัจจุบันมีอายุราว 160 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น