xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจ “เชื้อเอชไอวี” ปีละครั้ง! กลยุทธ์ลดผู้ป่วยเอดส์รายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ตรวจ “เชื้อเอชไอวี” ปีละครั้ง! กลยุทธ์ลดผู้ป่วยเอดส์รายใหม่
โดย...กมลรัตน์ อู่อรุณ

ต้องยอมรับว่า โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ เอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) ยังเป็นโรคที่ทำให้หลายคนเกรงกลัว และหวังว่า สักวันจะมียารักษาโรคให้หายขาด หรือมีสิ่งป้องกันอื่นใดนอกเหนือจาก “ถุงยางอนามัย”

ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ยังมีเพิ่มขึ้นทุกวัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง แต่กลับถูกมองข้าม นั่นคือ การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว น่าอับอาย แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร หากเข้าข่ายมีพฤติกรรมเสี่ยง การดูแลตัวเองด้วยการไปตรวจเลือด ถือเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยว่า การที่จะทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลยนั้น หากยังใช้วิธีเดิมเช่นการให้ความรู้ การรณรงค์ การแจกถุงยางอนามัย คงไม่ประสบความสำเร็จ

“การตรวจเอดส์ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีป้องกันอีกวิธีหนึ่ง เช่น ถ้าสมัครใจไปตรวจแม้จะตรวจไม่เจอก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสในการติดเอดส์ในอนาคตลงได้ แม้แต่ประเทศที่จริงจังในเรื่องการตรวจเชื้อเอดส์ ก็ยังพบว่า มีผู้ไม่เคยตรวจเอดส์เลยราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะมีโอกาสพบเชื้อมากกว่าคนที่ตรวจเป็นประจำ จึงทำให้เกิดการรณรงค์ให้มีการตรวจเอดส์ปีละครั้ง” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ อธิบาย
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค
ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวเสริมว่า การตรวจเอดส์ปีละครั้ง ถ้าตรวจเจอรักษาทันที เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์งัดมาใช้กับผู้ที่ยังไม่กล้ามาตรวจ เป็นกลยุทธ์ที่มีการตรวจเอดส์โดยสมัครใจ เมื่อตรวจเจอก็จะเริ่มทำการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ทันที โดยไม่ต้องรอให้ภูมิต้านทานต่ำก่อน ซึ่งผู้ที่ได้รับยาต้านฯเกิน 6 เดือนก็จะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้กับผู้อื่นได้ หากประเทศใดที่สามารถทำเช่นนี้ได้ ประเทศนั้นจะไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่อีกเลยภายใน 10 ปี

ต้องทำให้การตรวจเอดส์กลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ว่าจะตรวจเจอโรคอะไรก็สามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะมีนโยบายการเริ่มให้ยาต้านไวรัสฯที่เร็วขึ้น ตรวจเจอปุ๊บรักษาทันทีจะทำให้ไม่มีใครเสียชีวิตจากเอดส์ และยังป้องกันไม่ให้คนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ด้วย ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว แต่ผู้ติดเชื้อเองก็ต้องให้ความร่วมมือในการกินยาอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา เพื่อกันการดื้อยาเพราะหากดื้อยาจะทำให้ค่ารักษาสูงขึ้นไปอีก

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ บอกอีกว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้ไม่ยอมหมดไป คือ การตีตราและการแบ่งแยก การตีตราผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยง และการแบ่งแยกระหว่างผู้ติดเชื้อกับผู้ไม่ติดเชื้อยังคงมีอยู่ให้เห็นเสมอ แม้จะลงน้อยลงไปบ้าง กรณีเช่นนี้อาจมาจากความรู้สึกส่วนลึกของผู้ติดเชื้อ วิธีการแก้ปัญหาอาจต้องอาศัยความเข้าใจและความใจกว้างของสังคม โดยอาศัยสื่อและผู้ติดเชื้อทำความเข้าใจกับสังคม ซึ่งสาเหตุใหญ่ๆ ที่นำมาสู่การตีตราและการแบ่งแยกผู้ติดเชื้อเป็นความเชื่อและความเข้าใจในสมัยที่เอดส์เริ่มระบาดใหม่ๆ ยังฝังหัวจนปัจจุบัน แม้จะมีการให้ความรู้แต่ทัศนคติที่มีต่อโรคนี้มานานทำให้ความเชื่อและความกลัวเดิมๆ ลบออกได้ยาก

ปัจจุบันแม้จะมีการรณรงค์ให้ไปตรวจเอดส์กันทุกปี ในวันเอดส์โลก แต่หากไม่สามารถทำให้คนกล้าไปตรวจโรคหรือเลิกตีตราและแบ่งแยก ปัญหาการติดเชื้อเอดส์และการแพร่ระบาดก็ยังคงเป็นปัญหาของสังคมไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น