xs
xsm
sm
md
lg

หลายกลยุทธ์ลดผู้ติดเชื้อ “เอดส์” ให้เหลือ “ศูนย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย... ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

ช่วงนี้หลายคนอาจได้ยินคำว่า “Getting to Zero” บ่อยครั้ง หลายคนอาจยังไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมันดีนัก “Getting to Zero” เป็นสโลแกนหรือคำขวัญที่โครงการเอดส์สหประชาชาติจะใช้รณรงค์เรื่องโรคเอดส์ในอีก 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ โดยที่ Zero หรือศูนย์ที่หมายถึงประกอบด้วย 3 ศูนย์ (000) ศูนย์แรกคือ การที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Zero new infection) ศูนย์ที่สองคือการที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ (Zero death) และศูนย์สุดท้ายคือการไม่มีการตีตราหรือการแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป (Zero stigma and discrimination) โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในโลกนี้ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือจะให้มันเป็นศูนย์ หรือไม่มีเลยคงยาก หลายคนจึงแปลความหมายของ “Getting to Zero” ว่า “เข้าใกล้เป้าหมายที่เป็นศูนย์” และโครงการเอดส์สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายแบบออมแรงแต่ต้องไม่พลาดเป้า เช่น ภายในปี 2559 จะต้องมีผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงครึ่งหนึ่ง หรือต้องมีผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตจากกวัณโรคลดลงครึ่งหนึ่ง แทนที่จะบอกว่าต้องไม่มีเลย เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่พลาดเป้าเมื่อถึงเวลานั้น

แต่ถ้าจะทำกันจริงๆ สามารถทำให้เกือบเป็นศูนย์ หรือเข้าใกล้เป้าหมายที่เป็นศูนย์ได้จริงๆ การที่จะลดลงเพียงครึ่งเดียวนั้น มือสมัครเล่นหรือใครๆก็ทำได้อยู่แล้ว หลายคนอาจไม่เชื่อ!!! ความรู้หรือเทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในขณะนี้ทำได้จริงๆ เพียงแต่ว่าจะเอาจริงหรือเปล่าเท่านั้น

การที่จะทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกเลย (Zero new infection) ถ้าทำอย่างที่ทำกันเดิมๆ เช่น การให้ความรู้ การรณรงค์ การแจกถุงยางอนามัย แน่นอนไม่สำเร็จ เพราะถ้าสำเร็จก็คงสำเร็จไปนานแล้ว เพราะเป็นวิธีที่ใช้กันมานานแล้ว การมีความรู้ไม่ได้แปลว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสมอไป หรือถุงยางอนามัยที่แจกๆกันก็ใช้จริงในสนามกามยุทธ์ไม่ถึงครึ่ง วัคซีนเอดส์อันแรกที่พบว่าได้ผลบ้างซึ่งทดสอบในประเทศไทยก็แค่ป้องกันได้เพียง 31% ยาทาช่องคลอดป้องกันผู้หญิงไม่ให้ติดเชื้อได้ 39% การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายสามารถป้องกันผู้ชายไม่ให้ติดเชื้อได้ 54% เป็นต้น

ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา มีผลการศึกษาออกมาหลายอันเกี่ยวกับการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ในการป้องกันการติดเชื้อ เรียกเป็นศัพท์ทางการแพทย์ว่า PrEP หรือ Pre-exposure prophylaxis คือการป้องกันก่อนการสัมผัส (รับ) เชื้อ ยาที่ใช้ได้ผลคือ Tenofovir (TDF) ร่วมกับ Emtricitabine (FTC) ซึ่งรวมกันเป็นเม็ดเดียวกัน ที่รู้จักกันภายใต้ชื่อการค้าว่า “Truvada” ยาที่ใช้ป้องกันดังกล่าวก็เป็นยาต้านฯตัวเดียวกันกับที่ใช้รักษาคนที่ติดเชื้อ เพียงแต่สูตรยาที่ใช้รักษาต้องมียาต้านฯอีกตัวหนึ่งเพิ่มเข้าไปด้วยจึงจะเพียงพอ ผลการศึกษาหลายอันออกมาตรงกันว่า ถ้าให้ Truvada แก่ผู้ชาย หรือผู้หญิงทั่วไป หรือชายรักชาย ที่มีโอกาสจะติดเชื้อสูงโดยให้กินป้องกันไว้ทุกวันๆ เป็นเวลานาน 1-2 ปี พบว่าสามารถลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีลงได้ 60-70% ถ้าเทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก โดยทั้งสองกลุ่มมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัย และจำนวนคู่นอนพอๆกัน และถ้าเจาะลึกในกลุ่มที่กินยาต่อเนื่องจริงๆทุกวัน พบว่าสามารถลดการติดเชื้อลงได้กว่า 80% ดีกว่าการใช้วิธีป้องกันอื่นๆในชีวิตจริง

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผลการศึกษาขนาดใหญ่อีกอันหนึ่งที่ร่วมกันทำในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย (เรียก HPTN 052) ออกมาพบว่าการรักษาคู่สามีภรรยาที่ฝ่ายหนึ่งติดเชื้อ อีกฝ่ายไม่ติดเชื้อ ด้วยยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปสู่คู่นอนได้เกือบ ร้อยเปอร์เซ็นต์ (96%) ถ้าเทียบกับกลุ่มที่รอการให้ยาต้านฯ จนกว่าภูมิต้านทาน (CD4) ต่ำกว่า 250 อธิบายได้ว่าการให้ยาต้านฯ จะทำให้ปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดและในน้ำคัดหลั่งต่างๆต่ำลงมากจนไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้กับใครได้อีกต่อไป เท่ากับว่าการรักษาก็เป็นการป้องกันไปในตัว หรือ Treatment is (as) Prevention จึงไม่ต้องมีการถกเถียงกันอีกแล้วว่าการทุ่มงบประมาณลงไปในด้านการรักษามากนั้น จะทำให้การป้องกันอ่อนแอลง เพราะได้ประโยชน์ร่วมกัน

การตรวจเอดส์ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีป้องกันเอดส์วิธีหนึ่ง คือ ถ้าสมัครใจไปตรวจแล้ว แม้จะตรวจไม่เจอ ก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสในการติดเอดส์ในอนาคตลง แต่แม้กระทั่งประเทศที่มีการรณรงค์ตรวจเอดส์กันอย่างจริงจัง อย่างเช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ ก็ยังพบว่ามีคนไม่เคยตรวจเอดส์เลยในชีวิตราวครึ่งหนึ่ง คนที่ไม่เคยตรวจเอดส์เลยมีโอกาสตรวจพบว่าติดเอดส์มากกว่าคนที่เคยตรวจเอดส์มาก่อนแล้วเท่าตัว แต่ถ้าเคยตรวจนานมาแล้ว เช่น เกิน 2 ปีขึ้นไป โอกาสจะติดเอดส์ก็จะมากขึ้นจนเกือบเท่าคนที่ไม่เคยตรวจมาก่อนเลย แสดงว่าความรู้ ความตระหนักในการป้องกันต้องได้รับการตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ให้มีการตรวจเอดส์ปีละครั้ง หรือตรวจเป็นประจำ

หลายคนอาจเคยได้ยินกลยุทธ์ “การตรวจเอดส์ปีละครั้ง ถ้าตรวจเจอรักษาทันทีเลย” หรือที่เรียกว่า “Test and Treat” กลยุทธ์นี้กำหนดให้มีการตรวจเอดส์โดยสมัครใจปีละครั้ง คนที่ติดเชื้อก็คงจะต้องถูกตรวจเจอสักปีหนึ่ง และเมื่อตรวจเจอก็เริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ทันที โดยไม่ต้องรอให้ภูมิต้านทานต่ำก่อน ผู้ที่ได้รับยาต้านฯเกิน 6 เดือนก็จะไม่ถ่ายทอดเชื้อให้กับผู้ใด ถ้าประเทศใดทำเช่นนี้ได้ ประเทศนั้นก็จะไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่อีกเลยภายใน 10 ปี

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เป้าหมายของการทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย สามารถทำได้ภายใน 5-10 ปี โดยต้องอาศัยมาตรการป้องกันหลายๆอย่างร่วมกันไป ตั้งแต่การรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันเอดส์ การใช้ถุงยางอนามัย ทุกครั้งกับคนที่ไม่ทราบผลการตรวจเอดส์ การใช้ยาต้านฯในการป้องกันการติดเชื้อ (PrEP) การตรวจเอดส์เป็นประจำ และการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ทันทีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ การดำเนินการดังกล่าวต้องการนโยบายชนิดที่คิดนอกกรอบ ที่ต่อเนื่องจริงจัง ต้องการงบประมาณ และความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกๆฝ่าย รวมทั้งประชาชนทั่วไป

การทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์เลย (Zero death) ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เลย เพราะความรู้และเทคโนโลยีมีพร้อมแล้ว และได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว ซึ่งเวลานี้โรคเอดส์กลายเป็นโรคที่รักษาได้ แม้จะไม่หายขาด การให้ยาต้านไวรัสเอดส์จะทำให้เชื้อเอชไอวีลดน้อยลงอย่างมากจนแทบตรวจไม่เจอ ภูมิคุ้มกันหรือ CD4 ก็จะสูงขึ้น เพราะไม่ถูกเชื้อเอชไอวีทำลาย เมื่อภูมิคุ้มกันดี ร่างกายก็จะแข็งแรง ยิ่งถ้าเริ่มการรักษาแต่เนิ่นๆ ผู้ติดเชื้อก็จะไม่ป่วย CD4 ก็จะสูงเท่าคนปกติ ผู้ติดเชื้อก็สามารถมีอายุยืนยาวเท่าคนอื่นๆที่ไม่ติดเชื้อ

ดังนั้น การจะทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตจากเอดส์เลย ก็ต้องทำให้ผู้ติดเชื้อรู้ตัวว่าติดเชื้อแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะป่วยขึ้นมา กล่าวคือ ต้องทำให้การตรวจเอดส์กลายเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจเจอจะได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จะได้ไม่ป่วย นอกจากนี้ รัฐควรมีนโยบายการเริ่มให้ยาต้านไวรัสฯที่เร็วขึ้น ยิ่งถ้าตรวจเจอว่าติดเชื้อปุ๊บ ก็เริ่มให้ยาต้านฯ ทันที โดยไม่ต้องรอให้ภูมิต้านทานต่ำก่อน เข้าตำรา “Test and Treat” เช่นนี้ ก็จะไม่มีใครเสียชีวิตจากเอดส์ แถมยังป้องกันไม่ให้คนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ด้วย ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว แน่นอน ค่าใช้จ่ายช่วงแรกจะต้องมากขึ้น แต่ระยะยาวจะคุ้มค่ากว่าวิธีการที่ทำกันมาแต่เดิมๆ ผู้ติดเชื้อเองก็ต้องให้ความร่วมมือในการกินยาอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา จะได้ไม่ดื้อยา ซึ่งจะทำให้ค่ารักษาสูงขึ้นไปอีก

การทำให้การตีตราและการแบ่งแยกหมดไป (Zero stigma and discrimination) เป็นสิ่งที่ยากที่สุดในบรรดา 3 ศูนย์ที่เราพยายามจะไปให้ถึง แม้โลกจะอยู่กับเอดส์มา 30 ปีแล้ว การตีตราผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง และการแบ่งแยกระหว่างผู้ติดเชื้อกับผู้ไม่ติดเชื้อยังมีอยู่ให้เห็นเสมอๆ แม้จะน้อยลงบ้างแต่ก็น้อยลงไม่มากนัก การตีตราและการแบ่งแยกบางครั้งอาจมาจากความรู้สึกส่วนลึกของผู้ติดเชื้อ ซึ่งจริงๆ อาจไม่มีในครอบครัวหรือสังคมนั้นๆ ก็ได้ แต่ก็มีพื้นฐานจากประสบการณ์หลายๆ อย่างในสังคม เช่น ผู้ติดเชื้อถูกปฏิเสธการจ้างงาน การบวช การประกันชีวิต หรือการผ่าตัด เป็นต้น บางรายถูกบังคับให้ออกจากบ้านไปอยู่วัด บางรายถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนเพราะพ่อแม่ของเด็กคนอื่นรังเกียจ แม้จะมีนโยบาย มีกฎหมายที่ห้ามการเปิดเผยความลับของคนไข้ หรือห้ามการกีดกันผู้ติดเชื้อ แต่กฎหมายก็ใช้บังคับไม่ได้ผล เป็นผลทำให้คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่กล้าไปตรวจ คนที่ตรวจเจอก็ไม่กล้าไปรับการดูแลรักษา ต้องหลบๆซ่อนๆ ซึ่งทำให้การไปพบแพทย์หรือการกินยาไม่ต่อเนื่อง ฯลฯ

วิธีการที่จะทำให้การตีตราและการแบ่งแยกหมดไป ต้องอาศัยความเข้าใจและความใจกว้างของสังคม ต้องอาศัยสื่อในการ ทำความเข้าใจกับสังคม และต้องอาศัยผู้ติดเชื้อที่จะทำตวามเข้าใจกับสังคม สาเหตุใหญ่ๆที่นำมาสู่การตีตราและการแบ่งแยกผู้ติดเชื้อเป็นความเชื่อและความเข้าใจในสมัยที่เอดส์เริ่มระบาดใหม่ๆ และฝังอยู่ในหัวจวบจนปัจจุบัน แม้ความรู้จะดีขึ้น และความก้าวหน้าในการดูแลรักษาจะดีขึ้น แต่ก็ลบความเชื่อ หรือความกลัวเดิมๆได้ยาก

สาเหตุหลัก 4 ประการที่ทำให้มีการตีตราและการแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ คือ ผู้ติดเชื้อเป็นคนไม่ดี เช่น เป็นหญิงบริการ เป็นผู้ชายที่ชอบเที่ยวผู้หญิง เป็นคนติดยาเสพติด หรือ เป็นชายรักชาย แต่ปัจจุบัน หญิงที่มีสามีเป็นคู่นอนเพียงคนเดียวก็ติดเชื้อได้ และใครๆ ซึ่งเป็นคนดีตามมาตรฐานของสังคมก็อาจติดเอดส์ได้ถ้าขาดความระมัดระวังเพียงครั้งเดียว ดังนั้น คนที่ติดเอดส์ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่คนไม่ดีเสมอไป สาเหตุของการรังเกียจ ประการที่สองคือกลัวว่าคนที่ติดเชื้อจะเป็นอันตรายกับเรา จึงพยายามอยากรู้ว่าใครติดเชื้อ รู้แล้วจะได้อยู่ห่างๆเขา ซึ่งจริงๆแล้วเอดส์ไม่สามารถติดต่อกันจากการมีชีวิคประจำวัน หรือจากการอยู่ร่วมกันในบ้าน หรือในสังคม จึงไม่ต้องไปสนใจว่าใครรอบข้างจะติดเชื้อหรือไม่ นอกจากเราจะไปมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับใคร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ก็ต้องป้องกันอยู่แล้วไม่ว่าคนนั้นจะติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม สาเหตุประการที่สามคือการกลัวว่าคนที่ติดเชื้อจะมีรูปลักษณ์น่าเวทนาจนทำให้เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของกิจการ เสื่อมเสียชื่อเสียงได้ จึงต้องรีบไล่ออกจากบ้านหรือไล่ออกจากที่ทำงาน แต่ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อถ้ารู้ตัวแต่เนิ่นๆจะต้องไม่ป่วยหรือไม่มีอาการอะไรถ้ารับการดูแลรักษาถูกต้อง สาเหตุสุดท้ายของการรังเกียจก็คือการกลัวว่าผู้ติดเชื้อจะเป็นภาระกับครอบครัวหรือบริษัท ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้ไม่เต็มที่ ต้องลาป่วยบ่อย แต่ปัจจุบันรัฐรับภาระในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์ให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบประกันสังคม ผู้ติดเชื้อ หรือบริษัทไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม อีกทั้งรักษาแล้วก็สามารถทำการงานได้เหมือนคนปกติ จึงไม่มีเหตุในการปฏิเสธผู้ติดเชื้อเข้าทำงาน

สื่อมีส่วนสำคัญยิ่งในการประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้และเข้าใจในวิวัฒนาการใหม่ๆของโรคเอดส์ เพื่อที่จะลบความเข้าใจและความเชื่อเก่าๆที่ผิดๆ ให้หมดไป สังคมเองก็ต้องเปิดใจในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ไม่เข้าใจก็ถามหรือสืบหาข้อมูลต่อไป อย่าไปคิดว่าหมอมาหลอกเราเพื่อจะได้ไม่รังเกียจผู้ติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อเองก็ควรเปิดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อที่มีต้นทุนทางสังคมสูง อย่างเช่น ดารา หรือนักกีฬาที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา การเปิดเผยตัว และการออกมาพบปะพูดคุยกับสังคมในภาพกว้าง จะทำให้สังคมเข้าใจในผู้ติดเชื้อดีขึ้น มีข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ ถ้าใครมีญาติหรือคนรู้จักติดเชื้อสักคน คนๆนั้นจะมีความเข้าใจในผู้ติดเชื้อดีขึ้น การตีตราและการแบ่งแยกจะหมดไป ทำได้ แต่ทำยากหน่อย

แม้ว่าทั้งสามเป้าหมายของการเข้าใกล้ความเป็นศูนย์จะมีความสำคัญพอๆ กัน และต้องเร่งทำพร้อมๆกันไป แต่ทั้งสามเป้าหมายมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ยากที่จะแยกออกมาเป็นมาตรการเดี่ยวๆ การทำให้มาตรการหนึ่งเข้าใกล้ความเป็นศูนย์ ก็จะทำให้มาตรการอื่นดีขึ้นด้วย แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึก จะเห็นว่าการทำให้การตีตราและการแบ่งแยกหมดไป จะเป็นตัวสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนกล้าตรวจเอดส์กันมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษามากขี้นและเร็วขึ้น ก็จะทำให้ผู้เสียชีวิตจากเอดส์น้อยลง และลดการแพร่เชื้อลง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “การเข้าใกล้เป้าหมายที่เป็นศูนย์” ที่โครงการเอดส์สหประชาชาติตั้งเป้าไว้นั้น อยู่ในวิสัยที่แต่ละประเทศทั่วโลกสามารถจะทำได้ถ้าจะทำกันจริงๆ ประเทศไทยเองก็มีกลยุทธ์ด้านเอดส์ในแนวทางเดียวกันนี้ ดีไหมครับถ้าทุกฝ่ายมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง คิดนอกกรอบ ทำนอกกรอบ มีงบประมาณนอกกรอบ ทำแข่งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ดูว่าใครจะทำสำเร็จก่อนใคร และผลประโยชน์สุดท้ายจะตกกับใคร เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด เราต้องการคุณทุกๆคนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น