“จุรินทร์” โว สธ.มีนโยบายป้องกันเอดส์ สอดคล้องกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ มุ่งลดผู้ป่วยรายใหม่-ปรับเกณฑ์การรักษาให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น ด้าน เอ็นจีโอ ชูวาระสำคัญด้านเอดส์ 3 ข้อ ยกกรณีสนับสนุนการแจก “เข็มฉีดยาสะอาด” ให้ผู้ติดยา ป้องกันเอดส์ กรมควบคุมโรค เผย สถานการณ์เอดส์ยังน่าห่วง พบในชายรักชาย กว่า 30% อึ้งเยาวชนยังพบความชุกของเชื้อเอดส์มาก โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์
วันนี้ (29 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง โรคเอดส์ ครั้งที่ 13 ที่เมืองทองธานี ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเอชไอวี หรือเอดส์ สะสมกว่า 1,161,244 ราย เสียชีวิต 644,128 ราย มีชีวิตอยู่ 522,548 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 10,853 ราย ในจำนวนนี้พบชายรักชาย ร้อยละ 33 แม่บ้าน ร้อยละ 28 จากชายติดจากหญิง ร้อยละ 10 สามีติดจากภรรยา ร้อยละ 10 และติดยาจากเข็มฉีดยาร่วมกัน ร้อยละ 9 ซึ่งเฉลี่ยพบว่า แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละหมื่น สธ.ได้มีนโยบายในการกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ โดยมุ่งลดผู้ป่วยรายใหม่ โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ (ศธ.) จัดหลักสูตรเพศศึกษา 30 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา และยังเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาสามารถนำเข็มเก่ามาแลกเข็มใหม่ได้ เพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม นอกจากนี้ ในการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ ได้มีการปรับเกณฑ์มาตรฐานการรักษาโดยให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น จากเดิมต้องตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดขาว หรือระดับ CD4 ที่ 200 จึงจะให้ยาได้ แต่เกณฑ์ใหม่เปลี่ยนเป็นที่ระดับ CD4 ที่ 350 ก็สามารถให้ยาต้านไวรัสได้ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลาก่อนและหลังที่ รมว.สธ.กล่าวพิธีเปิดงานสัมมนาเอดส์นั้น เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด 12 องค์กร (12D) ประมาณ 40 คน ได้มาชูป้ายเรียกร้อง พร้อมทั้งตะโกนว่า “ผู้ใช้ยาก็เป็นคน” บริเวณด้านข้างเวทีทั้งสองข้าง เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการปราบปรามยาเสพติดที่มุ่งเน้นเฉพาะผู้เสพรายย่อย เพื่อหวังทำยอด ส่งผลให้ผู้เสพยามีปัจจัยเสี่ยงที่จะใช้เข็มร่วมกัน ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
วันเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาชน มีการแถลงข่าวถึงวาระสำคัญในการรณรงค์ป้องกันเอดส์และเอชไอวีด้วย โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) กล่าวว่า โอกาสที่มีการจัดงานสัมมนาระดับชาติครั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนได้ระดมความคิดเห็นของผู้ทำงานด้านเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีใน 4 ภูมิภาค เสนอวาระเอดส์ภาคประชาชน 3 วาระ คือ 1.การปฏิรูปสังคมและการเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ลดปัญหาเอดส์ มุ่งหน้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ โดยควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 รวมถึงยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ล้าสมัย เช่น พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพื่อให้คนได้เข้าถึงและขจัดอุปสรรคในการได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และเสริมสร้างหลักประกันสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า 2.การป้องกัน ดูแล รักษา ลดผลกระทบ และขจัดการตีตราการเลือกปฏิบัติ จัดให้มี และแจกจ่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งไวรัสตับอักเสบบี และซี อย่างเช่น การแจกถุงยางอนามัย ถุงอนามัยสตรี เข็มฉีดยาที่สะอาด และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ ที่มีความจำเป็นในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยาเสพติด แต่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ไม่เกิดการติดเชื้อเอชไอวีในระหว่างที่เขายังไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ ซึ่งต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้ที่ติดยา ว่า การเลิกไม่ใช่เรื่องง่าย ระหว่างนี้ก็ควรให้เข้าได้มีอุปกรณ์ในการป้องกันตนเอง 3.ทบทวนโครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน วาระเอดส์แห่งชาติ และกระบวนการทำงานของภาคประชาสังคม โดยควรจะต้องมีการแก้ไขให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ ขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี แทนกรมควบคุมโรค สธ.เพื่อให้การสื่อสารสั่งการงานด้านเอดส์กับกระทรวงอื่นๆเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากงานด้านเอดส์ไม่ได้มีเพียงมิติด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของชีวิต
นพ.เฉวตสรร นามวาท หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาโรคเอดส์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคเอดส์ ว่า จากการติดตามอุบัติการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ใน ปี 2554 พบ 10,097 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 27 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชายรักชาย ถึงร้อยละ 33 กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ร้อยละ 26 หญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 0.7 และทหารเกณฑ์ ร้อยละ 0.5 ซึ่งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น พบว่า มีการติดเชื้อเอชไอวีในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีถึงร้อยละ 16 ซึ่งยังถือว่าเป็นสถาการณ์ที่น่าห่วง
“ทั้งนี้ จากการสำรวจเชิงพื้นที่ย่อย 12 จังหวัดของกลุ่ม พบว่า พื้นที่ที่พบความชุกของการติดเชื้อในกลุ่มนี้มากที่สุด คือ กรุงเทพมหานครร้อยละ 31.1 รองลงมา คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 13 สงขลา ร้อยละ 12.7 และปทุมธานี ร้อยละ 11.5 นอกจากกลุ่มชายรักชายแล้ว ยังพบการติดเชื้อในกลุ่มอื่นๆ รองลงมา คือ กลุ่มภรรยารับเชื้อจากสามี จำนวน 3,034 ราย สามีรับจากภรรยา 1,083 ราย ชายนักเที่ยว 1,048 ราย ผู้ใช้ยาเสพติด 900 ราย และกลุ่มนิยมมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวอีก 769 ราย สำหรับกรณีของสามีรับเชื้อจากภรรยานั้น พบว่า ในบางพื้นที่กลุ่มหญิงขายบริการได้เลิกอาชีพนี้และไปแต่งงาน แต่กลับพบว่าติดเชื้อภายหลัง หรือบางพื้นที่หญิงกลุ่มนี้มีการขายบริการด้วย และมีคนรัก หรือคู่นอนประจำโดยปราศจากสวมถุงยางอนามัย สำหรับชายกลุ่มชายรักชายเพิ่มขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัย”นพ.เศวตฉัตร กล่าว
ด้าน นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ปัจจุบันวิทยาการต่างๆ ในการป้องกันโรคเอดส์ ยังไม่เทียบเท่าถุงยางอนามัย เนื่องจากป้องกันได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันเชื้อเอชไอวีก็ยังประสิทธิผล ร้อยละ 32 ขณะที่เจลฆ่าเชื้อในกลุ่ม Microbicides ซึ่งเป็นสารทำลายเชื้อที่ผสมยาต้านไวรัส Tenofovir ในปริมาณร้อยละ 1 โดยมีการทดสอบในอาสาสมัครที่แอฟริกาพันกว่าคน โดยการสอดก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ภายใน 12 ชั่วโมง ผลการศึกษาออกมาในปี 2553 พบว่า ลดการติดเชื้อเอชไอวีได้ร้อยละ 39 หรือแม้กระทั่งการนำยาต้านไวรัสมาใช้ลดปริมาณเชื้อในผู้ที่ติดเชื้อไปแล้วก็ยังไม่ใช่วิธีที่ใช้ได้ในปัจจุบัน ซึ่งการปรับพฤติกรรมมีคู่เดียว ใช้ถุงยางอนามัย ถือว่าดีที่สุด
ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า แนวทางการป้องกันปัญหาเรื่องเอดส์แนวทางที่ดีที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัย แต่โครงการถุงยางอนามัย 100% ที่มีการดำเนินงานอยู่ในขณะนี้ดูเป็นแนวทางที่เลือนลาง เพราะพบว่าการกระจายถุงยางอนามัยไปยังพื้นที่ต่างๆ ยังไม่ทั่วถึง งบด้านถุงยางอนามัยก็น้อยลง มีการนำงบไปจมอยู่ที่ สปสช.ในงบเหมาจ่ายรายหัว ที่จะแจกถุงยางอนามัยให้กับผู้ที่มารับยาต้านไวรัสเท่านั้น