xs
xsm
sm
md
lg

“ดงกาม” ในตำนานนิตยสารเกย์(ไทย)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รวมเล่ม “ชีวิตเศร้าชาวเกย์” ของ โก๋ ปากน้ำ ปี  2521 และ 2542
การประกาศตัวตนชัดเจนของนิตยสาร Attitude ในฐานะที่เป็น “นิตยสารเกย์” ณ วันนี้ ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ของนิตยสารเกย์ในเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ … บ้านเราเคยมีนิตยสารเกย์ (หัวไทย) ในแนววาบหวิวจำหน่ายกันมาแล้ว เริ่มต้นที่สำนักพิมพ์ ชมพูนุช กับนิตยสาร “มิถุนา” จูเนียร์ เมื่อเดือนมีนาคม 2527 จากนั้นได้แตกหน่อเนื้อขึ้นอีกมากมาย ณ วันนี้นิตยสารเกย์(ไทย) ไม่มีแล้ว คงเหลือแต่อัลบั้ม “เซ็กซี่ของนายแบบโนเนม”

 บางเล่มพยายามที่จะสอดเรื่องราวให้คนอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พ้นเรื่อง “ครั้งแรก” หรือ “หลายๆครั้ง” ของประสบการณ์ทางเพศ ซึ่งไม่มีผลต่อการสร้าง ฟูมฟัก และประคองสติปัญญาอันใดให้แก่เกย์ในเรื่อง “รสนิยม” เลย นอกจากทำให้สังคมส่วนใหญ่มองว่า คนกลุ่มนี้ ขาดไม่ได้ และหมกมุ่นเฉพาะเรื่อง “เพศ” เท่านั้น !?

ก่อนจะเป็นนิตยสารเกย์
กลุ่มเกย์ และสังคมของคนรักเพศเดียวกันในเมืองไทยปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะที่เป็นคอลัมน์ตอบปัญหา ชื่อว่า “ชีวิตเศร้าชาวเกย์” และเจ้าของคอลัมน์นี้ได้ใช้นามแฝงในการตอบและคลี่คลายปัญหาในนามของ “โก๋ ปากน้ำ” คอลัมน์นี้ปรากฏอยู่ในนิตยสาร “แปลก” ของค่ายจินดาสาส์น

ณ วันนี้ … นิตยสารแปลก มีชีวิตในบรรณพิภพถึง 37 ปี ด้วยราคาจำหน่าย 30 บาท / เล่ม และไม่มีคอลัมน์นี้ “นานแล้ว” !!

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคอลัมน์และเรื่องราวในนิตยสาเล่มนี้ ส่งผลให้ชื่อคอลัมน์ “ชีวิตเศร้าชาวเกย์” ในภายหลังได้เปลี่ยนไป เหลือเพียง “ ชีวิตเศร้า” คลี่คลายโดย ...โก๋ ปากน้ำ ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มคอลัมน์ “โก๋ ปากน้ำ ซะอย่าง” ทั้ง 2 คอลัมน์เรื่องเป็นการตอบปัญหาเหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ให้แก่คอลัมน์ “เพื่อนใจ” ซึ่งเป็นคอลัมน์ในอารมณ์เดียวกับ “ลุงหนวด” (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) เพียงแต่คอลัมน์เพื่อนใจนี้ เน้นที่กลุ่ม “ชายรักชาย” เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ “ Pic จุ๊บจิ๊บ” ซึ่งเป็นคอลัมน์ประเภทกอสสิปในวงการเกย์ กะเทย ต่อมามีการเปลี่ยนคอลัมน์และนามปากกาในคอลัมน์ “ชีวิตเศร้า” เป็น “ระเบียงรักสีม่วง” คลี่คลายโดย... นนทรี นทีนนท์ แต่ก็ยังคงคอลัมน์ “โก๋ปากน้ำ ซะอย่าง”ไว้ ไม่ว่าจะเป็นระเบียงรักหรือโก๋ ปากน้ำ ต่างก็เป็นคอลัมน์ตอบจดหมายเหมือนกัน

ต้องยอมรับว่าทางออกของเกย์ในยุคนั้น มีเพียง“โก๋ ปากน้ำ” ผู้นี้ที่เป็น “กูรู กูรู้” ชูคบเพลิงแห่งแสงสว่างให้แก่ชาวเกย์ ในยุคเดียวกับ “หมอนพพร” ผู้รอบรู้เรื่องปัญหาทางเพศ และ “ศิราณี” ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการคลี่ปมชีวิตรักให้แก่คนหนุ่มสาว

ปี 2521 ทางสำนักพิมพ์ จินดาสาส์น ได้รวมเล่ม “ชีวิตเศร้าชาวเกย์” เป็นพ็อกเกตบุ๊กครั้งแรก จำหน่ายในราคา 12 บาท และ 21 ปีถัดมา พ.ศ. 2542 มีการนำต้นฉบับจากการตอบปัญหาของ “โก๋ ปากน้ำ” ในล็อตใหม่มาคัดเลือกและรวมเล่มอีกครั้งในชื่อเดียวกัน จำหน่ายในราคาเล่มละ 130 บาท
ปกหลังของพ็อกเกตบุ๊กเล่มนี้ แนะนำ “โก๋ ปากน้ำ” เพียงว่า

“โก๋ ปากน้ำ เข้าสู่วงการน้ำหมึกครั้งแรก เริ่มด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวและช่างภาพต่างจังหวัดให้แก่ นสพ. รายวันในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2498 ในปีต่อมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจนปี พ.ศ. 2500 เข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ หน้าที่ช่างภาพและผู้สื่อข่าว

ต่อมาเป็นผู้ช่วย บก. นสพ. เสรีประชาธิปไตย, หัวหน้ากองบรรณาธิการ นสพ.อิสระรายวัน (ฉบับบ่าย) บรรณาธิการ นสพ. อิสระเสรีภาพรายวัน (ฉบับเช้า) กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติ ถูกสั่งจับในข้อหากบฏภายในพระราชอาณาจักร แต่ได้รับการปลดปล่อยในที่สุด และหยุดการเขียนหนังสือไปพราะถูก “คำสั่งห้าม”

กลับมาเขียนหนังสือใหม่ หลังจากพักผ่อนไป 5-6 ปี มีทั้งเรื่องโจ๊ก, สารคดี, นิยาย พร้อมกับทำงานหนังสือพิมพ์ไปด้วย ร่วมงานกับนิตยสาร “แปลก” และ “มหัศจรรย์” แต่เริ่มแรก โดยใช้นามปากกา “โก๋ ปากน้ำ” และ ฯลฯ”

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า โก๋ ปากน้ำคนนี้เป็นใคร !! และในความเป็นจริง... โก๋ ปากน้ำอาจจะไม่ได้รู้จัก “เกย์” ดีพอด้วยซ้ำ แต่ไม่มีใครใส่ใจในรายละเอียดด้านนี้นัก เกย์ส่วนใหญ่ที่เป็นแฟนคอลัมน์นี้ อ่านเพื่อความสนุกสนานและใช้คอลัมน์นี้เป็นเพื่อนที่รู้ใจมากกว่า เพราะ ณ วันที่ “โก๋ ปากน้ำ” โด่งดังเป็นกูรูในหมู่ชาวเกย์ กะเทยนั้น สังคมไทยยังไม่ยอมรับในเรื่องรักคนเพศเดียวกัน คนเหล่านี้แม้จะมี “ตัวตน” และ มีอยู่จริงในสังคม ได้แต่ซุกซ่อน ปกปิด ซ่อนเร้นชีวิตที่ผิดแผกไว้เงียบๆเท่านั้น

เพื่อนสื่ออาวุโส ท่านหนึ่งซึ่งเคยร่วมงานกับจินดาสาส์น กล่าวยืนยันว่า “โก๋ ปากน้ำ” เป็นนามปากกาของ “ปรัชญา ภัณฑาทร” ซึ่งเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการของนิตยสารแปลก เป็นลูกผู้ชายพันธุ์แท้ 100 % เสียชีวิตหลายปีแล้วด้วยโรคมะเร็ง และเรื่องของ “โก๋ ปากน้ำ” ไม่ได้รู้จักเฉพาะคนไทยเท่านั้น เพราะ Peter A. Jackson ได้เขียนถึง Dear Uncle Go Male Homosexuality in Thailand. Bangkok, ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1995 จัดพิมพ์โดย Bua Luang วางจำหน่ายทั่วโลก

เมื่อวันที่คนรักเพศเดียวกันยังไม่มีเพื่อน “โก๋ ปากน้ำ” คือ ปิยมิตรที่รู้ใจที่สุด แต่วันหนึ่ง เมื่อมีหนังสือเกย์เกิดขึ้นในบรรณพิภพและบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าการตอบจดหมาย ทุกคนก็กรูเข้ามาหาเพื่อนใหม่ และทิ้ง “โก๋ ปากน้ำ” ในวัยชราให้เป็นเพียงตำนานในวรรคหนึ่งของวงการเกย์เท่านั้น

“มิถุนา” จากเสือไบสู่ความเป็นเกย์ !!
ปลายปี พ.ศ. 2526 “นิตยสาร มิถุนา” ปรากฏตัวครั้งแรกบนแผงหนังสือด้วยขนาด 8 หน้ายกพิเศษ (ขนาด 9 x 12 นิ้ว โดยประมาณ) นิตยสารมิถุนาได้สร้างปรากฏการณ์ที่ฉีกจากนิตยสารประเภทเดียวกันในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็น “หนุ่มสาว” , “แมน” ฯลฯ ด้วยการมีภาพ “นายแบบผู้ชาย” อีก 1 เซต ควบคู่อยู่ด้วยทุกฉบับ จึงมีการตั้งฉายาเรียกนิตยสาร “มิถุนา” ในยุคนั้นว่า “นิตยสารเสือไบ” เข้าทำนอง “หญิงก็ได้ ชายก็ดี”

ส่วนเนื้อหามีทั้งสกู๊ปพิเศษ, บทสัมภาษณ์, เรื่องสั้น, รวมถึงบทความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ หรือเรื่องทั่วๆไป และบางส่วนก็พูดถึงเรื่องราวของคนที่รักเพศเดียวกัน โดย 2 เล่มแรกใช้ “นางแบบ” เป็นปก นายแบบคนแรกของนิตยสารในยุค “เสือไบ” ในเล่มแรก คือ รณเดช พิริยโยธิน ในคอนเซ็ปต์ “คาวบอยในป่าคอนกรีต” ในบรรดานายแบบไม่กี่คนของมิถุนาในยุคนี้ คนที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดคือ ไกร กำพล ทั้งนายแบบผู้นี้ถูกคัดเลือกให้เป็นแบบปกคนแรกของนิตยสารมิถุนา

กวีบทหนึ่ง เขียนขึ้นโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “สามัญชน” ปรากฏอยู่ใน “นิตยสารมิถุนาจูเนียร์” เล่ม 1
“สองแขนถูกตรึงขึงแน่น หมื่นแสนขับข้องหมองหม่น ทุกข์ทนเนิ่นนานทานทน เถอะกระชากเชือกพ้น พันธนา” … เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อมาว่า นอกจากไม่อาจกระชากเชือกพ้นแล้ว ยังขมวดปมแน่นยิ่งกว่า ...

เดือนมีนาคม 2527 สำนักพิมพ์ ชมพูนุชเปิด “มิถุนา จูเนียร์” มีเศรษฐศักดิ์ ศรีทองท้วมเป็นบรรณาธิการ ส่วน อนันต์ ทองทั่ว เริ่มจากงานบริหารและเป็นบรรณาธิการบริหารในเวลาต่อมา แรกทีเดียว “มิถุนาจูเนียร์” เพียงแค่ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายที่อายุอ่อนกว่านิตยสารมิถุนาเท่านั้น จนมีการสำรวจทางการตลาด และพบว่า ลูกค้า 99 % เป็นผู้ชาย จึงตัดสินใจเปลี่ยน “จุดยืน” จากประตูหน้าสู่ประตูหลัง ประกาศเป็นนิตยสารเกย์เต็มตัวในฉบับที่ 7

การเติบโตของนิตยสารเกย์ในต้นทศวรรษที่ 1980 ของเมืองไทย เติบโตมาพร้อมๆกับสังคมที่กลุ่มเกย์เริ่มมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจต่างๆที่เข้ามาสนองรับกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบาร์เกย์ , แฟชั่นบูติก ฯลฯ รวมถึงนิตยสารแฟชั่นที่เริ่มจะนำเอาผู้ชายมาเป็นนายแบบมากขึ้น ขณะเดียวกันทัศนคติของผู้ชายทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงในวันนั้น ส่งผลให้เกิดสังคมผู้ชายในแบบ “เมโทรเซ็กชวล” ในทุกวันนี้

การทำนิตยสารไซส์เล็กของนิตยสารมิถุนา จูเนียร์ (ขนาด 16 หน้ายก - ขนาด 5.5 x 8 นิ้วโดยประมาณหรือพ็อกเกตบุ๊ก) ก็เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บซ่อนและพกพาเท่านั้นเอง จำหน่ายในราคา 30 บาท นายแบบคนแรกคือ แทน พลากุล ไซส์ของนิตยสารตามแบบฉบับที่พกพาสะดวกนี้ กลายเป็นขนาดที่นิตยสารเกย์ส่วนใหญ่นิยมกัน

 แม้จะมีบางเล่ม หรือบางวาระที่นิตยสารมิถุนา จูเนียร์ได้ปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้น (ขนาด 16 หน้ายกพิเศษ ขนาด 7.5 x 10 นิ้ว โดยประมาณ) แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปลดขนาดลงเหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะไซส์ดังกล่าวทำให้ประหยัดค่ากระดาษ นิตยสารเกย์ในยุคเดียวกันนั้นทุกเล่มไม่ว่าจะเป็น กับ “มิถุนาจูเนียร์, นีออน (2528) , มรกต (เพทาย - ชื่อเดิม 2529 ), มิดเวย์ (2530) ล้วนแต่ขับเคลื่อนด้วย “ภาพโป๊เปลือย” ของนายแบบประจำฉบับของนิตยสารเหล่านี้ทั้งสิ้น

“คนที่ทำให้นิตยสารนีออนมีสาระ ออกแนวเกย์แบบแหววนิดๆ เหมือนเกย์ติดลูกไม้ หน้าตาหมดจดคือ “ซา” ไพโรจน์ สาลีรัตน์ ซึ่งปกติแล้ว ไพโรจน์มีฝีไม้ลายมือในการเขียนหนังสืออยู่แล้ว เขามาช่วยคุณปกรณ์ทำหนังสือเล่มนี้ในยุคแรกๆ ทั้งยังเป็นคนที่คัดนายแบบ ค้นหาโลเกชันในการถ่ายแบบในแต่ละครั้ง เขียนเรื่องให้ อะไรต่อมิอะไร ทำให้เกิดการตื่นตัวในวงการเกย์” ผู้สันทัดกรณีท่านหนึ่งให้ความเห็น

วนเวียนแห่งกามาสมุทร

ภาพเปลือยแนววาบหวิวของนายแบบในแต่ละเล่ม มิได้ปรากฏเฉพาะในนิตยสารเท่านั้น หากแต่ยังมี “ภาพลับเฉพาะ” จำหน่าย โดยการสั่งซ์อทางไปรษณีย์ต่างหาก !! ภาพลับเฉพาะ ในแต่ละเชต จะมีภาพนายแบบคนนั้นๆ ราว 5 - 6 ภาพ ด้วยกิริยาขณะที่กำลังสำเร็จความใคร่ด้วยหน้าเหยเกจนถึงจุดไคลแมกซ์ ราคาต่อเซตอยู่ที่ 100 บาท นอกจากช่วงโปรโมชันที่จะระบายคลังรูปในสต๊อกที่เหลืออยู่ให้หมดด้วยการลดราคาภาพนายแบบย้อนหลัง เป็นต้น และการที่นิตยสารในแต่ละเล่มมีจำนวนนายแบบมากขึ้นเท่าไหร่ (ประมาณ 3-4 คน) ย่อมหมายความว่า จะมีรายได้การขายภาพลับเฉพาะเหล่านี้มากขึ้นเท่านั้น ภายหลัง นิตยสารบางเล่มมีการแบ่งภาพเป็น 2 ชุด(ไม่ซ้ำกัน) จำนวน 3 ภาพ ในราคาจำหน่าย 50 บาท เหมือนจะถูกลง แต่ความจริงก็เท่าเดิม

แม้นิตยสารเกย์เหล่านี้จะอยู่ในแผงหนังสือ แต่ก็ยังไม่สง่างาม เพราะเจ้าของร้านส่วนใหญ่จะซุกอยู่ในบริเวณที่มิดชิดจัดอยู่ในกลุ่มของนิตยสารในแนวโป๊ - เปลือย และเป็นที่ทราบกันว่า นิตยสารแนวนี้ในบางเดือน บางช่วงอาจจะต้องหลบลงใต้แผงสักระยะหนึ่งเพื่อความเหมาะสม หนึ่งในปัญหาที่เกิดกับนิตยสาร “มิถุนาจูเนียร์” ในยุคหนึ่งก็คือ พนักงานบางคนได้ทุจริตทางการเงินจากการที่ผู้อ่านที่ได้ส่งเงินมาสมัครเป็นค่าสมาชิก, ซื้อภาพลับเฉพาะหรือวิดีโอหนังเกย์ (อันเป็นเรื่องที่เกรียวกราวที่สุดในวงการ) เมื่อกรณีดังกล่าวรวมเข้ากับการขาดทุนสะสมต่อเนื่องส่งผลให้นิตยสาร “มิถุนา” ต้องเปลี่ยน “นายทุน” และกองบรรณาธิการอยู่บ่อยครั้ง จนรูปแบบ-เนื้อหาหนังสือขาดความคงที่

เมื่อสำนักพิมพ์ชมพูนุชและอนันต์ ทองทั่วผู้บุกเบิก “นิตยสารมิถุนา” ตัดสินใจโบกมือลาหนังสือเล่มนี้ ผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหม่เมื่อเดือนมีนาคม 2529 คือ สำนักพิมพ์สุรสาส์น โดย สุรศักดิ์ จักรวาลมงคล ผู้อำนวยการคนใหม่คือ ปรัชญ์ สาธนา ส่วนบรรณาธิการคือ ศักรินทร์ ศิริรักษ์ (นามปากกาอื่นๆที่ใช้อยู่ เช่น จักรวิดา กฤษดากานต์, เมอร์ซิเดส เบ็นซ์) และในช่วงปลายปีเดียวกัน “เล็ก มาลี” ผู้เชี่ยวชาญในระดับ “กูรู” ผู้คร่ำหวอดในบาร์เกย์ก็ก้าวเข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหาร ภายใต้กลุ่มทุนใหม่ในนามของ Him Studio โดยมี สิทธิชัย ชวะโนมัยเป็นเจ้าของ
 
 ช่วงนี้เองที่นิตยสารมิถุนา ตัดเอาคำว่า “จูเนียร์” ออกไป และปรับรูปเล่มหนังสือใหม่ด้วยขนาด 16 หน้ายกพิเศษ ขยับราคาเป็น 35 บาท และกันยายน ปี 2530 กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาเป็นเจ้าของได้แก่ ยูเนี่ยนโปรดักชั่น โดยมี ชูชีพ สถิตย์ชัย หรือ “พี่โส” เป็นบรรณาธิการบริหาร โดยมี นที ธีรโรจนพงษ์ ก้าวเข้ามาพยายามเปิดยุค “ก่อนจะมาเป็นสมาคมเกย์” !? ปี 2535 ปรับราคาอีกครั้งเป็น 40 บาท และอีก 5 ปีต่อมา ปรับราคาเป็น 70 บาท เจ้าของทุนคือ ผู้ประกอบการการในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีทีมงานชื่อ “ไกรวิน” เข้ามาดูแลกองบรรณาธิการ ชื่อนิตยสารถูกเปลี่ยนอีกครั้งเป็น มิถุนา Gemini หลังดำเนินการได้ไม่นานก็ปิดตัวเองลงอย่างถาวร

บทส่งท้าย
การที่หนังสือเกย์เหล่านี้ผ่านเข้ามาบนแผงในอดีต นับจากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ตอกตะปู มัดตราสัง ตอกฝาโลง ก็ยังไม่สามารถทำให้เกย์ลืมตาอ้าปากได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้จะมีความเพียรพยายามในการตอบโจทย์สนองความต้องการของเกย์ด้วยคอลัมน์ต่างๆ แต่อย่าลืมว่า การที่นิตยสารเกย์เหล่านี้พร้อมใจกันชูธงในเรื่อง “นายแบบโป๊เปลือย” เป็นหลักทำให้เนื้อหาของหนังสือเบาๆลงเรื่อยๆโดยเฉพาะนิตยสารในยุคหลัง ไม่ว่าจะเป็น มิดเวย์ ,มรกต หรือแม้แต่ มิถุนาจูเนียร์ และนีออนล้วนแต่สู้งานที่ตัวเองบุกเบิกไว้แต่แรกไม่ได้ เมื่อขาดการพัฒนาและไม่สามารถขยายมุมมองในเชิงปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้จึงทำให้หนังสือประเภทนี้ดิ่งลงไปเรื่อยๆ
 
สุดท้าย … การโชว์บอดี้ หรือการถ่ายรูปแบบอีโรติกภายใต้กรอบของแฟชั่น เข้ามาในวงการก็สร้างความตื่นตา และตระการใจให้แก่คนทุกเพศได้ดีกว่าเยอะ แม้นายแบบเหล่านี้จะไม่มีภาพลับเฉพาะ แต่ภาพเหล่านั้นมีพลังและดึงดูดทางเพศยิ่งกว่านายแบบนู้ด เมื่อนิตยสารเกย์ขาดจุดยืนและไม่มีเทรนด์ที่ชัดเจน อาจจะด้วยความใหม่มาก (ณ ขณะนั้น) !! ความเพียรพยายามในการคลำหาทางเลือกในระยะเวลาหนึ่งก็ไม่อาจทำให้เกย์หลุดพ้นจากเหล่าสเปิร์มที่เวียนว่าย ลอยตัว อยู่ใน “กามาสมุทร” ให้กลายเป็นผู้มีรสนิยมได้
 
เพราะ ณ เวลานั้น ในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า หนังสือเหล่านี้ไม่มีทางเลือก เพราะไม่มีสินค้าตัวอื่นเข้ามาสนับสนุน นอกจากบาร์เกย์ซึ่งถึงพร้อมในการสนับสนุนท่านั้น เมื่อนิตยสารเหล่านี้พาตัวเองไปคลุกอยู่กับดงน้ำกามที่ไม่ได้ส่งเสริมรอยหยักแห่งสติปัญญา รวมถึงการปูพื้นสร้างด้านรสนิยมให้กับผู้อ่านที่เป็นเกย์ คอลัมน์ที่ดูเหมือนจะมีประโยชน์ก็ย่ำอยู่กับที่และไม่มีอะไรใหม่ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้นิตยสารเกย์ดิ่งตัวลง

ตลอดระยะเวลา 13 ปี นับจากปีพ.ศ. 2527 - 2540 ไม่ได้มีเฉพาะ นิตยสารเกย์ตามรายชื่อที่กล่าวมาเท่านั้น ถ้าจะนับกันจริงๆ น่าจะมีมากถึง 30 - 50 หัวโดยประมาณ ซึ่งเป็นนิตยสารที่เต็มไปด้วย “กามยัดเยียด” โดยสเปิร์มที่เติบโตจากหนังสือเกย์ในยุคแรก ได้บ่มฟักและวิ่งเข้าหา “อัลบั้มพิเศษของนายแบบโนเนม” ในวันนี้
 

คำกล่าวที่ว่า “นิตยสารเกย์ไทยไม่มีแบรนด์แห่งความสำเร็จ” จึงไม่เกินเลยความจริง ดังนั้น … โลกยุคใหม่ของนิตยสารในแนวเกย์ของเมืองไทย จึงต้องใช้แบรนด์อินเตอร์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาเป็นเวลานานเข้ามาเป็นทางเลือก นับจากนี้ น่าจะมีหัวอื่นที่หลากหลายตามเข้ามา นอกจาก attitude เพื่อถามและพิสูจน์ว่า เกย์คนไทยในยุคนี้ ค.ศ. 2011 ยังติดข้องอยู่ใน “ทะเลกาม” และบริโภค “ภาพโป๊เปลือยและประสบการณ์ทางเพศ” เป็นอาหารมื้อหลัก จนยากแก่การสลัดเหมือนยุคที่แล้วหรือหรือไม่ !?

.............................................................

ตัวอย่างนิตยสารเกย์ของไทยในยุคแรก


 Dear Uncle Go (1995) โดย  Peter A. Jackson
นิตยสารแปลก เมื่อปี 2545 กับคอลัมน์ของ โก๋ ปากน้ำ
นิตยสารแปลก ปี 2547 เปลี่ยนเป็น ระเบียงรักสีม่วง โดย นนทรี นทีนนท์
นิตยสารมิถุนา (8 หน้ายกพิเศษ)  ในยุค “เสือไบ” 2 เล่มแรก ปก “นางแบบ” เล่ม 3  นายแบบปกคนแรกคือ ไกร กำพล
มิถุนาจูเนียร์เล่มแรก ( 16 หน้ายก) หน้าปกคือ “หมี” แทน พลากุล
ตัวอย่างปกของมิถุนาจูเนียร์ในยุคแรกๆ
 รณเดช เป็นนายแบบคนแรกของฉบับเสือไบ ส่วนอีกคนชื่อ เมฆา วิจิตรการ นายแบบจูเนียร์ ปีที่ 2 ฉบับ 25/2528
ยุคหนึ่งที่ Him Studio เข้ามาถือหุ้น มีการขยายเป็นขนาด 16 หน้ายกพิเศษ
โฉมหน้า 6 เล่มแรกของจูเนียร์ ก่อนประกาศเป็นนิตยสารเกย์ในฉบับที่ 7
รวมนายแบบ เล่มแรกๆของนิตยสารมิถุนา
นิตยสาร “นีออน” ในเครือพงศ์วราภา
นิตยสารเกย์ ชื่อ เพทาย ภายหลังเปลี่ยนเป็นชื่อ “มรกต” (2529)
นิตยสารมิดเวย์ (2530)
กำลังโหลดความคิดเห็น