xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” แจงรื้อโครงสร้าง ศธ.ไม่เกี่ยวกับยกฐานะแท่ง แต่เพื่อความคล่องตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วรวัจน์” แจงรื้อโครงสร้าง ศธ.ไม่ใช่เพื่อยกฐานะแท่งใดแท่งหนึ่ง แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ยันข้อเสนอให้ ปลัด ศธ.มีอำนาจสูงสุดในกระทรวง หรือแม้แต่แยก สกอ.ออกเป็นแท่งอิสระ ทำไม่ได้แน่นอน เพราะกำหนดโครงสร้างต่างๆ ไว้แล้ว ระบุต้องใช้เวลาศึกษาช่วงนี้จะเร่งทำเรื่องน้ำท่วม แต่มอบ ทปษ.รมว.ศธ.เป็นหัวหน้าทีมศึกษากฎหมาย ทั้งหมด

นายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ทปษ.รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศธ.ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป.911/2554 แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย และระเบียบของ ศธ.ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยประกอบไปด้วย คณะกรรมการจำนวน 21 คน อาทิ นายโสภณ เพชรสว่าง เป็นประธานกรรมการ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ.เป็นรองประธานกรรมการ นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้ประชุมกันครั้งแรกแล้ว พบว่า มีข้อเสนอมากมาย อาทิ เสนอให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจากกำกับ ศธ.เพื่อการบริหารที่อิสระและคล่องตัว หรือข้อเสนอให้ตั้งหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัด ศธ.ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงาน ก.ค.ศ.และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ขึ้นเป็นอย่างละแท่งหรือเทียบเท่าระดับกรม เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมาก จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะหน่วยงาน เสนอให้ปลัด ศธ.มีอำนาจบังคับบัญชาสูงที่สุดใน ศธ.เหมือนกระทรวงอื่น ถึงแม้ปัจจุบันตำแหน่งเลขาธิการในแท่งหรือกรมต่างๆ ของ ศธ.จะเป็นข้าราชการระดับซี 11 เท่ากัน แต่ปลัด ศธ.ก็จะสามารถสั่งงานข้ามแท่งได้ และหากเลขาธิการระดับซี 11 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของปลัด ศธ.ก็สามารถสั่งลงโทษทางวินัยได้

เนื่องจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ.2542 ที่ ศธ.ใช้อยู่นั้น ได้ประกาศใช้มานานแล้ว ดังนั้น คงถึงเวลาที่ ศธ.จะต้องแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆ เพื่อจะปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้ หากดำเนินการเสร็จก็จะเสนอเป็นร่างกฎหมายให้นายวรวัจน์ พิจารณา เพื่อส่งต่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป แต่เบื้องต้นคงจะใช้เวลาหลายปี และต้องอยู่กับการเมืองด้วย เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาลไปก่อนกำหนด เรื่องดังกล่าวก็คงล้มไป”นายโสภณ กล่าว

ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ.กล่าวถึงการเสนอแยก สกอ.ว่า ถือเป็นข่าวดีที่ ศธ. มีข้อเสนอดังกล่าว และทำได้จริงก็ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น อย่างไรก็ตามหากมีการแยก สกอ.ออกจริงก็อยากให้เป็น กระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย เพราะงานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาสมรรถนะการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตาม การรวม ศธ.กับทบวงมหาวิทยาลัยจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ถือเป็นบทเรียนสำคัญทั้งบทเรียนที่ดีและไม่ดี บทเรียนที่ดี คือ การศึกษาของชาติดูเหมือนเป็นเอกภาพมากขึ้น ส่วนบทเรียนที่ไม่ดีคือ การบริหารงานล่าช้า ที่สำคัญพันธกิจของการศึกษาในแต่ละระดับไม่ได้ไปในจุดหมายเดียวกัน ทั้งนี้ หาก สกอ.จะอยู่ใน ศธ.ต่อไป ตนคิดว่า ผู้บริหาร ศธ.ควรให้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางวิชาการมากขึ้น

ขณะที่นายวรวัจน์ กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการไปศึกษา และรวบรวมปัญหาเพื่อนำมาประมวลมในภาพรวมก่อน เนื่องจากกฎหมายด้านการศึกษาหลายฉบับได้ใช้มานาน และถึงเวลาต้องปรับปรุงสอดคล้องกับปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ.เป็นต้น ส่วนการปรับโครงสร้าง ศธ.นั้น ตนมีแนวทางไว้อยู่แล้วว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างบางส่วนเพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ไม่ใช่การปรับเพื่อยกฐานะหน่วยงานหรือแท่งต่างๆ

ส่วนที่มีข้อเสนอจะให้อำนาจปลัด ศธ.มีอำนาจสูงสุดในศธ.คงไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะมีการกำหนดโครงสร้างต่างๆ ออกมาแล้ว เช่นเดียวกับข้อเสนอที่ให้ สกอ.แยกเป็นกระทรวงต่างหากนั้น คงไม่ได้ เพราะตอนนี้การทำงานต่างๆ เน้นเชิงบูรณาการแล้วทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน และตอนนี้ทาง สกอ.และมหาวิทยาลัยก็มีความสุขกับการทำงานร่วมกันในหน่วยงานของ ศธ.อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมาย การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ทั้งหมดนี้คงต้องขอเวลาเพราะช่วงนี้ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือปัญหาน้ำท่วมก่อน” นายวรวัจน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น