นายจ้างเตรียมผนึกกำลังขอเลื่อนขึ้นค่าจ้าง300 บาท เป็นวันที่ 1 ม.ค.56 อ้างเจอพิษน้ำท่วม ขอเวลาปรับตัว 1 ปี อัดรัฐบาลฉวยโอกาสหาเสียง ด้านลูกจ้างเตรียมถามความชัดเจน
วันนี้ (23 พ.ย.) นายวรพงษ์ รวิรัฐ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมเพิ่ม 40% ในทุกจังหวัด ทำให้ 7 จังหวัดทั้งกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดภูเก็ตปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท โดยเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างจากเดิมในวันที่ 1 ม.ค.ไปเป็นวันที่ 1 เม.ย.2555 นั้น ข้อเท็จจริงแล้วมติของคณะกรรมการค่าจ้างก็ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2555 อยู่แล้ว จึงเห็นว่า รัฐบาลออกมาให้เหตุผลเช่นนี้เหมือนกับเป็นการหาเสียง จึงอยากถามว่าที่รัฐบาลออกมาให้ข่าวอย่างนี้เพื่ออะไร เป็นการหาเสียงหรือไม่
“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้เป็นแบบก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลกระทบต่อนายจ้างอยู่แล้ว และยิ่งมาประสบภาวะน้ำท่วม ก็ยิ่งเท่ากับมาซ้ำเติมนายจ้างเข้าไปอีก อยากให้รัฐบาลเห็นใจนายจ้าง จึงขอเสนอให้รัฐบาลเลื่อนบังคับใช้ออกไป และมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.2555 เนื่องจากนายจ้างจะได้มีเวลาในการปรับตัวได้ทัน” นายวรพงษ์ กล่าว
ด้านนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทยและกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า จริงๆ แล้วมติของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2554 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 40% ของค่าจ้าง ส่งผลให้ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ ภูเก็ต ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2555 อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการเลื่อนการปรับค่าจ้าง อีกทั้งในขณะนั้นก็ยังไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วม
นายปัณณพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการที่รัฐบาลให้เหตุผลว่า การเลื่อนปรับขั้นค่าจ้างจากวันที่ 1 ม.ค.2555 เป็นวันที่ 1 เม.ย.2555 เป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ประสบภัยน้ำท่วม ถือว่าเป็นการคลาดเคลื่อน และเป็นการหาเสียง ว่า รัฐบาลมีมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือนายจ้างแล้ว จึงเกรงว่ารัฐบาลจะไม่มีมาตรการอื่นๆ ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานเพิ่มอีก
“หลังจากนี้ ก็ต้องรอให้คณะกรรมการค่าจ้างมีการประชุม ซึ่งคิดว่าฝ่ายนายจ้างหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาองค์การนายจ้างต่างๆ อาจจะนำข้อเสนอมาพูดคุย เพื่อหาความเป็นไปได้ในการที่จะยืดเวลาการปรับขึ้นค่าจ้างออกไปได้หรือไม่” นายปัณณพงศ์ กล่าว
นายปัณณพงศ์ กล่าวด้วยว่า ภาครัฐต้องไปหามาตรการเยียวยาให้กับนายจ้างอย่างชัดเจน เพราะตนมีความกังวลว่าสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หลายพันราย ซึ่งไม่ได้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีน้ำท่วมเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี สระบุรี อาจจะอยู่ไม่ได้ มีการเลิกจ้างพนักงาน
ขณะที่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เชื่อว่า จะมีการฟื้นฟูและเริ่มกิจการได้ในเดือน ธ.ค.2554 ได้ประมาณ 10% เท่านั้น แต่จะเริ่มกลับมาผลิตชิ้นงานได้เต็มที่ 100% ประมาณเดือน เม.ย.2555 เพราะว่าเครื่องจักรขนาดใหญ่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ต้องใช้ระยะเวลากอบกู้กันอีกนาน บางเครื่องต้องสั่งซื้อและนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้นายจ้างมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
“โดยส่วนตัวผมคิดว่าควรยืดเวลาการปรับขึ้นค่าจ้างออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค.2556 เพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัว แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาล หรือคณะกรรมการค่าจ้างยังยืนยันที่จะให้มีการปรับขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.2555 นายจ้างก็คงต้องพร้อม เพราะว่ากฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งนายจ้างคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องรับกรรมไป หากสถานการณ์เลวร้ายคงถึงขั้นต้องมีการลดหรือเลิกจ้างแรงงาน” นายปัณณพงศ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา คสรท.มีการประชุมหารือมาก่อนหน้านี้ และมีมติไปแล้วว่า รัฐบาลควรดำเนินการตามนโยบายเดิม คือ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่จากสถานการณ์น้ำท่วมก็เข้าใจ แต่การจะรวมยอดทั้งประเทศคงไม่ใช่ เนื่องจากไม่ได้ท่วมทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม คสรท.จะมีการประชุมหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรอีกครั้งในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
“ที่ต้องหารืออีกครั้ง เนื่องจากแม้จะมีสถานการณ์น้ำท่วม แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ได้ท่วมทั้งหมด ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่สามารถคุมราคาสินค้าได้ ทำให้คนงานยิ่งประสบปัญหาในการครองชีพ ซึ่งการปรับค่าจ้างยิ่งช้าก็ยิ่งมีปัญหา ที่สำคัญ ยังปรับไม่เท่ากันหมด ไม่เป็นไปตามนโยบายเดิม อีกทั้งยังส่งผลให้คนงานเครียดยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างกรณีคนงานในโรงงานไดนามิกส์ กรุ๊ป อำเภอกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร นายจ้างทำท่าไม่จ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างก็โทรศัพท์มาปรึกษา คสรท.กันเยอะ สุดท้ายมีอยู่ 1 คน ชื่อว่า นางธีรารัตน์ ศรีสุข อายุ 52 ปี มีอาการเครียดมากจนเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งทราบมีโรคประจำตัวคล้ายๆ เลือดจาง ต้องเข้าโรงพยาบาลนครปฐม ตอนนี้อาการสาหัส อยู่ห้องไอ.ซี.ยู.ตรงนี้อยากให้รัฐบาลดูแลด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว