xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.อ้าง 1-2 สัปดาห์ กทม.เข้าสู่ภาวะปกติ ฝั่งธนฯ จมถึงต้น ธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  (แฟ้มภาพ)
ชาวบ้านย่านดอนเมือง-หลักสี่กว่า 20 หมู่บ้าน ยื่นหนังสือเจรจา 6 ข้อเรียกร้องต่อ ศปภ. ให้เร่งระบายน้ำ-กำจัดขยะ หลังทนทุกข์จมน้ำนานนับเดือน ด้าน ศปภ.ยันพร้อมรับข้อเสนอนำเรียนต่อ ผอ.ศปภ.-นายกฯ เพื่อช่วยเยียวยาต่อไป เผยพร้อมรื้อบิ๊กแบ็กวิภาวดีขาออก หลังกั้นใหม่ทมี่คลองรังสิต คาด 1-2 สัปดาห์ กทม.เข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนฝั่งธนบุรีจบแค่ต้น ธ.ค.เท่านั้น



ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กระทรวงพลังงาน วันนี้ (21 พ.ย.) ตัวแทนชาวบ้านเขตดอนเมืองกว่า 15 คน นำโดยนายแทนคุณ จิตอิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตดอนเมือง พรรคประชาธิปัตย์ และนายพงษ์เทพ ศิริทรัพย์ ชาวบ้านในพื้นที่เขตดอนเมือง เดินทางยื่นหนังสือกับทาง ศปภ.เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ใต้คลองรังสิต หลักหก เขตดอนเมือง และเขตหลักสี่ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือน และขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่ยังมีคงมีระดับสูง ตั้งแต่ 1-2 เมตร โดยบางพื้นที่น้ำเริ่มเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นเป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ทั้งการอยู่อาศัย การเดินทาง และการใช้ชีวิตประจำวัน จึงขอให้ ศปภ.เร่งดำเนินการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ออกโดยเร็ว

นายพงษ์เทพกล่าวถึงข้อเสนอที่ชาวบ้านขอให้ ศปภ.เร่งดำเนินการ ดังนี้ 1.ขอให้ ศปภ.สนับสนุนเครื่องสูบน้ำจำนวน 30 เครื่อง เพื่อใช้สูบน้ำจากคลองเปรมประชากรลงคลองรังสิต ระบายออกที่แม่น้ำเจ้าพระยา และติดตั้งในบริเวณที่จำเป็น พร้อมกับสนับสนุนเรื่องน้ำมัน 2.เร่งดำเนินการระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร เพื่อระบายลงไปตามระบบระบายน้ำของ กทม.โดยเร่งแก้ปัญหาขยะ สิ่งกีดขวาง รวมทั้งเปิดประตูระบายน้ำให้มากที่สุดเพื่อที่จะสามารถระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

3.การกั้นแนวบิ๊กแบ็กจากเดิมที่เคยตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับสนามบินดอนเมืองนั้น ทราบว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำแนวบิ๊กแบ็กกั้นคลองรังสิต บริเวณใต้สะพานรังสิต เพื่อเป็นแนวใหม่ในการกั้นน้ำที่จะไหลมาเติมในถนนวิภาวดีรังสิต หากดำเนินการแล้วเสร็จก็ให้รื้อแนวคันกั้นน้ำเดิมออกจากถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อให้สะดวกต่อการสัญจร 4.การระบายน้ำออกจากคลองรังสิต ปัจจุบันน้ำลดลงมากแต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการระบายน้ำทางด้านตะวันออกที่ยังระบายออกไปได้น้อยมากจะมีวิธีการเร่งระบายให้มากขึ้นได้อย่างไร

5.สอบถามถึงขั้นตอน และหลักเกณฑ์การเยียวยา เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีระยะเวลาน้ำท่วมขังไม่เท่ากัน 6.ขอให้พิจารณาระบายน้ำออกทางคลองบ้านใหม่ โดยให้สร้างความเข้าใจในพื้นที่ปากเกร็ด และสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ พร้อมกับกำจัดผักตบชวาที่เป็นปัญหาเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ให้เร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเห็นว่าจะเห็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 วัน

ขณะที่ นายแทนคุณกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอมาตรการเยียวยาของคนดอนเมืองและพื้นที่ที่ได้รับน้ำ ได้แก่ 1.ขอให้มีการเยียวยาในอัตราก้าวหน้า 50% ของค่าเสียหายจริง หากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนานควรได้รับจำนวนเงินชดเชยที่มากขึ้นแต่ไม่เกิน 500,000 บาท 2.สำหรับกรณีที่ต้องการขายบ้านและย้ายบ้านขอให้มีการปรับนโยบายรายละเอียดและหลักเกณฑ์โครงการบ้านหลังแรกเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น การเสียภาษี หรือการกู้เงิน

3. กรณีบ้านที่มีผู้อยู่อาศัยหลายครอบครัวแต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือเช่าบ้านอยู่ขอให้ได้รับการสำรวจและได้รับการเยียวยาตามจริง 4.กรณีผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการชดเชย 50% และมาตรการทางภาษี รวมถึงเงินกู้ 5.กรณีที่ผู้ประสบอุทกภัยต้องไปเช่าบ้านขอให้มีค่าชดเชยเพิ่ม 6.ขอให้งดเว้นการจ่ายค่าทางด่วนโทลล์เวย์ 7.ขอให้การลงทะเบียนของรับการเยียวยาสามารถแจ้งได้ที่ทุกสำนักงานเขตของกทม. โดยมีพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษก ศปภ. และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่สาธารณภัยร้ายแรง เป็นตัวแทนของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.มารับหนังสือและหารือร่วมกันนานกว่า 1 ชม.

โดยนายอานนท์กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งดำเนินการระบายน้ำทางด้านคลองเปรมประชากร โดยจะพิจารณาในทุกจุดที่สามารถทำให้น้ำไปได้ โดยจุดหลักที่จะไปได้เร็วและสั้นที่สุด คือ คลองบางเขน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และปากคลองก็มีเครื่องสูบน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก และหลังจากนั้นจะพิจารณาทยอยเปิดแนวบิ๊กแบ็กเพื่อให้สะดวกต่อการสัญจร และต้องแน่ใจว่าเมื่อเปิดแล้วจะไม่มีน้ำล้นเข้ามาอีก พร้อมทั้งจะลงพื้นที่คลองบ้านใหม่เพื่อหารือกับเทศบาลปากเกร็ดว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง และจะเร่งรัดเก็บขยะที่ขวางทางน้ำอยู่บริเวณหน้าวัดดอนเมือง ขณะที่ในส่วนของเครื่องสูบน้ำ ศปภ.พร้อมอำนวยความสะดวกการส่งเครื่องสูบน้ำไปยังพื้นที่และพร้อมช่วยเหลือเรื่องของน้ำมัน

ด้าน พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า จะรับข้อเสนอของประชาชนเขตดอนเมืองไปพิจารณาร่วมกับข้อเสนอของประชาชนชาวลำลูกกา เพื่อเสนอต่อ ผอ.ศปภ. และนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่คณะกรรมการเยียวยาต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ช่วยเสนอแนะ และบอกความต้องการเข้ามายัง ศปภ. เพราะบางครั้ง ศปภ.ก็ไม่เห็นภาพที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้นำชุมชนให้ความมั่นใจกับลูกบ้านว่าทาง ศปภ.รับเรื่องไว้แล้วและจะดำเนินการอย่างดีที่สุด เพราะ ศปภ.เห็นใจและทุกข์ใจเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ชาวบ้านได้นั่งโต๊ะหารือร่วมกับ พล.ต.อ.พงศพัศ และนายอานนท์ เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ชม. โดยได้รับการชี้แจงในเรื่องต่างๆ และได้รับข้อเสนอไปพิจารณา ชาวบ้านจึงเดินทางกลับโดยจะติดตามและรอฟังคำชัดเจนของ ศปภ.อีกครั้งในภายหลังต่อไป

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวภายหลังการร่วมหารือกับกลุ่มชาวบ้านดอนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานว่า สำหรับข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั้น ศปภ.สามารถดำเนินการให้ได้โดยจะเริ่มวางแผนโดยนำเจ้าหน้าที่ลงไปปฏิบัติงานแก้ไขในจุดที่ได้รับการร้องเรียนทันที ส่วนข้อเรียกร้องที่ขอให้รื้อแนวบิ๊กแบ๊กเดิมบริเวณถนนวิภาวดีออก แล้วเร่งสูบน้ำออกเพื่อให้รถสัญจรไปมาได้นั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำแนวบิ๊กแบ็กขึ้นใหม่แล้ว ที่บริเวณใต้สะพานรังสิต ดังนั้น คงรื้อออกได้ แต่คงต้องดูในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนหลักการมีขั้นตอน หากเจ้าหน้าที่สามารถสูบน้ำที่ขังข้างในบิ๊กแบ็กเดิมให้ได้ก่อน แล้วค่อยทยอยแก้ไขเป็นจุดๆ ไป ซึ่งการจะให้ไปรื้อออกเลยทันทีคงไม่ได้ และไม่ใช่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

“ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่สอดคล้องกับการทำงานของ ศปภ.อยู่แล้ว และหลายเรื่องดำเนินการไปแล้ว เพียงแต่ยังไม่เห็นผล เช่น การวางแนวบิ๊กแบ็กกั้นคลองรังสิตที่บริเวณสะพานแก้ว หรือการเร่งระบายน้ำที่คลองเปรมประชากร แต่บางครั้งการดำเนินการอาจช้าไปบ้าง เพราะติดขัดปัญหาเรื่องเทคนิค”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพรวมการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร นายอานนท์กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงจะมีปัญหาเฉพาะในระดับพื้นที่ และมั่นใจว่าอีกไม่นานภารกิจเร่งระบายน้ำของคณะทำงานชุดนี้จะเสร็จสิ้น เพราะกำลังน้ำเข้าสู่ในระบบคลองหมดแล้ว ส่วนสถานการณ์น้ำใน กทม.นั้น เชื่อว่าในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ปัญหาน้ำท่วมน่าจะใกล้จบแล้ว เพราะปัญหาน้ำท่วมผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้ว ปัญหาขณะนี้น่าจะเหลืออีกเพียง 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการวิเคราะห์ว่า พื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันตกอาจจะต้องอยู่กับน้ำท่วมนานนับเดือน นายอานนท์กล่าวว่า คงไม่นานเป็นเดือน อย่างมากน่าจะอีก 2-3 สัปดาห์เท่านั้น และมองว่าแค่เพียงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม พื้นที่ย่านเศรษฐกิจ และถนนสายหลักน่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ เมื่อถามว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ อ.บางบัวทอง และ อ.บางใหญ่ จะใช้วิธีแก้ไขเหมือนกรณีชาวบ้านที่ดอนเมือง และจ.ปทุมธานีหรือไม่ นายอานนท์กล่าวว่า ศปภ.เตรียมแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่วิธีการไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะต้องดูลักษณะการท่วมขังของน้ำในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร

ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานระบายในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาของกรมชลประทาน ร่วมกับ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สถานีสูบน้ำคลองโยง สถานีสูบน้ำคลองมหาสวัสดิ์และสถานีสูบน้ำกระทุ่มแบน ว่า หลังจากที่กรมชลประทานได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ทั้งการลดปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา และประตูระบายน้ำบรมธาตุ และประตูระบายพลเทพ จ.ชัยนาท ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการใช้เครื่องสูบน้ำถาวรร่วมกับการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมทำให้สถานการณ์น้ำในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และในช่วงต่อจากนี้กรมชลประทานจะเสริมมาตรการย่อย คือจะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนการสูบน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เช่น เทศบาลปทุมธานี ตลาดรังสิต บางกรวย บางใหญ่ บางบัวทอง และไทรน้อย โดยขณะนี้ได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และเสริมความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำตามที่ได้รับการประสานจาก จ.นนทบุรีและปทุมธานีแล้ว

“หลังจากนี้สถานการณ์น้ำจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพรวมคาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ถนนสายหลักด้านตะวันตกจะโผล่พ้นน้ำให้เห็น และประชาชนก็จะสามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้ ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำน้ำก็จะเริ่มลดลงตามลำดับ”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น