ศปภ.เผย น้ำเหนือแถบนครสวรรค์ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ชี้ หลัง 16 พ.ย.น้ำทะเลลด การระบายฝั่งตะวันตกจะคล่องขึ้น กทม.ยัน เดินเครื่องสูบน้ำ 24 ชม.หากพังซ่อมทันที “อานนท์” เชื่อ สัปดาห์หน้าถนนสายหลักรถวิ่งได้ ฟันธง ตอนใต้อนุสาวรีย์ชัยฯ รอดแน่ ระบุ อาจใช้ถนนบางเส้นในสมุทรสาคร ทำฟลัดเวย์ป้องกันสมุทรสาคร ท่วมหนัก
วันที่ 13 พ.ย.นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำด้านบน บริเวณ จ.นครสวรรค์ มีหลายพื้นที่ที่ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ส่งผลให้น้ำในทุ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้สถานการณดีขึ้นเรื่อยๆ จะเหลือเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มต่ำเท่านั้นที่จะต้องเร่งระบายลงสู่แม่น้ำต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนของฝั่งตะวันออกของ กทม.บริเวณทุ่งนครหลวง ทุ่งอุทัย นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ระดับน้ำจะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันออกที่อยู่นอกคันกั้นน้ำของ กทม.นั้นกรมชลประทานจะดึงน้ำจากคลองระพีพัฒน์เข้าสู่คลองรังสิตเพื่อระบายออกทาง จ.นครนายก เช่นเดียวกับคลองหกวาสายล่าง ด้านน้ำในคลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ จะเร่งระบายออกทางแม่น้ำบางปะกง และดึงออกทางชายทะเล อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำด้วยวิธีแบบนี้ เป็นทางเลี่ยงที่ดีที่สุด ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด อีกทั้งยังจะทำให้น้ำที่อยู่นอกเหนือคันดินลดลงด้วย
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ด้านการระบายน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการปรับลดการระบายเข้าจนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ คือ 1.ได้มีการปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา และประตูน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท 2.จุดที่ขาดตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีทั้งหมด 17 จุด และซ่อมแซ่มเสร็จสิ้น 13 จุด ส่วนจุดที่เหลือนั้นนั้นเป็นจุดเล็กๆ เราได้เว้นไว้ให้ประชาชนสามารถสัญจรเข้า-ออกได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการในการลดปริมาณน้ำที่เข้ามาฝั่งตะวันตกนั้น กรมชลประทานสามารถระบายน้ำออกได้ในบางช่วงตามประตูระบายน้ำที่ตั้งอยู่ตามแนวแม่น้ำท่าจีน ซึ่งสามารถระบายได้วันละ130 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ขณะที่ช่วงท้ายแม่น้ำท่าจีน บริเวณ จ.สมุทรสาคร กรมชลประทานได้นำเครื่องสูบไปเสริมอีก 4 เครื่อง พร้อมกับเครื่องสูบขนาดเล็กของประชาชน ที่ประตูน้ำกระทุ่มแบน เพื่อเร่งระบายลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น
“หลังจากวันที่ 16 พ.ย.ไปแล้วระดับน้ำในทะเลจะลดลงเรื่อยๆ และตลิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ที่อยู่ด้านฝั่งตะวันตกจะโผล่ขึ้นตามลำดับ จากนั้นน้ำในทุ่งก็จะไหลลงสู่แม่น้ำได้ นอกจากนี้ กรมชลประทานยังจะเปิดประตูระบายน้ำช่วยอีกทาง ขณะที่จังหวัดที่อยู่ชายตามแนวชายทะเล ทางกรมชลประทานจะนำเครื่องสูบน้ำไปช่วยเพื่อเร่งระบายลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม จะเหลือเพียงที่ราบลุ่มต่ำเท่านั้นที่ยังคงมีน้ำขังอยู่บางส่วน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยหารือกัน เพราะบางพื้นที่ประชาชนอาจต้องการเก็บน้ำไว้ทำการเกษตรต่อไป” อธิบดีกรมประทาน กล่าว
นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ กทม.กล่าวว่า สำหรับระดับน้ำด้านฝั่งตะวันออกของ กทม.บริเวณเขตสายไหม คลองสามวา หนอกจอก และ มีนบุรี มีระดับน้ำลดลง และกำลังเคลื่อนตัวไปยังบริเวณด้านใต้ของคลองแสนแสบ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่บริเวณเขตประเวศ ลาดกระบัง และ สะพานสูง ขณะที่การระบายออกทางคลองสอง และคลองลาดพร้าวนั้น น้ำจะไปบรรจบกันที่คลองแสบแสบเพื่อระบายออกทางอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ซึ่งสามารถระบายออกได้ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้ ในส่วนของด้านทิศตะวันตก น้ำจะเคลื่อนตัวไปด้านล่างผ่านพระราม 2 ซึ่งเรามีสถานีสูบน้ำคอยเร่งระบายอยู่ เช่น สถานนีสูบน้ำชักพระ สถานนีสูบน้ำคลองมอญ สถานีสูบน้ำบางกอกใหญ่ เป็นต้น
“ในไม่ช้า น้ำที่ท่วมขังจะบรรเทาเบาบางลงได้ ขอให้ความมั่นใจว่าการระบายน้ำทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก เจ้าหน้าที่ได้เดินเครื่องระบายตลอด 24 ชั่วโมง และ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม เมื่อการใช้งานหนักเกินไปเครื่องก็สามารถชำรุดได้ แต่เราก็จะเร่งซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว” นายสัญญา กล่าว
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เลขานุการคณะทำงานจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤต กล่าวว่า สำหรับระดับน้ำในบริเวณเขตดอนเมือง สายไหม และลาดพร้าว เราสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายออกได้มากกว่าน้ำที่ไหลเข้าแล้ว ซึ่งใน 7-10 วัน ถนนสายหลักจะกลับมาใช้งานได้ ทั้งนี้ ในฝั่งตะวันออก เรามั่นใจว่าพื้นที่ชั้นใน ทางตอนใต้ของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โอกาสที่น้ำจะท่วมขังคงไม่มี แต่อาจจะมีน้ำผุดออกมาจากท่อระบายน้ำส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อขึ้นบ้าง แต่คงไม่มีเสียหายรุนแรงมากนัก ขณะที่ฝั่งตะวันตก บริเวณ จ.นครปฐม และ กทม.มีแนวโน้มที่น้ำจะลดลงอย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่ที่ใกล้กับทะเลอาจจะยังทรงตัว และแผ่ขยายเป็นวงกว้างเพราะน้ำถึงจุดสุดท้ายแล้ว โดยเราจะใช้แก้มลิง และเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายออกทะเลให้เร็วที่สุด
“เราอาจต้องเลือกถนนบางสายใน จ.สมุทรสาครเป็นฟลัดเวย์เพื่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ท่วมและส่งผลกระทบต่อ ตัวเมือง และมหาชัย จ.สมุทรสาคร มากเกินไป อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการต่างๆ ที่เราใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมในแต่ละจุดนั้น อาจต้องใช้เวลา 4-5 วัน ถึงจะเห็นผล” นายอานนท์ กล่าว