โรงงานสมุทรสาครตื่นตัว กระจายศูนย์อพยพแรงงานไทย-ต่างด้าว กว่า 6 แสนคน รวม 8 จุด หวั่นซ้ำรอยอยุธยา เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ
วันนี้ (9 พ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สมุทรสาคร ว่าจากการหารือกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีมาตรการรองรับน้ำท่วมโดยเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ แบ่งเป็นจุดรวมพลของแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทย โดยแรงงานไทยได้กำหนดจุดอพยพไว้ 5-6 จุด ใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งหากเกิดเหตุจะทำการอพยพแรงงานทั้งหมดไปยังจุดรวมพลเหล่านี้ โดยมีกว่า 200-300 บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง มีการแบ่งกลุ่มชัดเจนในการอพยพแรงงาน ซึ่งจะไปกลุ่มละ 20-30 บริษัท แตกต่างจากการช่วยเหลือแรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ลูกจ้างและนายจ้างกระจัดกระจาย ประสานให้ความช่วยเหลือทำได้ลำบาก
ส่วนแรงงานต่างด้าว ได้กำหนดจุดศูนย์อพยพไว้ที่วัดเทพนรรัตน์ ต.นาดี และบ้านเอื้ออาทรท่าจีน ขณะเดียวกันได้มีเจ้าอาวาสวัดคลองมะเดื่อ ต.คลองมะเดื่อ แสดงความประสงค์จะช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ซึ่งกระทรวงฯ ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม หากสถานที่ไม่เพียงพอก็จะเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวไปที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี ต่อไป ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการศูนย์อพยพต่างด้าวจะใช้ระบบหมุนเวียนแรงงาน โดยจะไม่ให้แรงงานอยู่เฉยๆ บางส่วนอาจจะต้องมีการส่งกลับไปประเทศต้นทาง และบางส่วนจะหางานให้ทำและถูกส่งไปอยู่กับนายจ้างใหม่ ซึ่งจะแตกต่างจากศูนย์พักพิงของแรงงานไทย
ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวต่อไปว่า การจัดระบบดูแลแรงงานของ จ.สมุทรสาคร ทำให้ดูแลแรงงานได้ง่ายและทั่วถึง ซึ่ง จ.สมุทรสาคร มีแรงงานรวมกว่า 6 แสนคน แยกเป็นแรงงานไทย 3.7 แสนคน และแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นแรงงานถูกกฎหมาย 2.1 แสนคน และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 1 แสนคน ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ประกอบการใน จ.สมุทรสาคร พบว่ามีการเตรียมการอย่างเป็นระบบ