นักวิจัยจี้นายจ้างยุ่น ทำประกันสุขภาพให้แรงงานไทยที่ประสบภัยก่อน ส่งตัวไปญี่ปุ่น หวั่นแรงงานไทยเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ
จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายช่วยเหลือประเทศไทยที่กำลังประสบอุทกภัยในปี 2554 โดยจะอนุญาตให้แรงงานไทยที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกพักงานจากน้ำท่วม สามารถเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้นั้น
วันนี้ ( 9 พ.ย.) น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยเรื่องการเข้าถึงการรักษาของแรงงานข้ามชาติในญี่ปุ่น กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายผ่อนปรนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่นายจ้างและแรงงานไทยพึงตระหนักและต้องเตรียมตัวก่อนเดินทางไปญี่ปุ่น คือ การเข้าถึงการรักษาสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆในญี่ปุ่นเลยเป็นเรื่องยากลำบากมาก ดังนั้น ก่อนการเดินทางนายจ้างต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานที่ญี่ปุ่น อีกทั้งแรงงานที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องรักษาตัวเองอย่างต่อเนื่องต้องเตรียมยาที่จำเป็นไปให้พอตลอดระยะเวลาที่ทำงานในญี่ปุ่น
“จากการวิจัยพบว่า หากแรงงานที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น และไม่มีประกันสุขภาพ จะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเลย แม้แต่ผู้ฝึกงาน หรือ trainee ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นชั่วคราวซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ก็มีปัญหา ดังนั้นค่อนข้างเป็นห่วงว่า หากนายจ้างและแรงงานที่จะไปทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ การช่วยหางานให้ทำในระยะที่ตกงานจากน้ำท่วมที่เมืองไทย อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพของแรงงาน ดังนั้น นายจ้างจึงต้องทำประกันสุขภาพให้แรงงานที่จะเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่น และตัวแรงงานเองที่มีโรคประจำตัว หรือที่ต้องรักษาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ฯลฯจะต้องจัดเตรียมยาไปให้พอ ซึ่งแรงงานทุกคนอยู่ในสิทธิประกันสังคม ดังนั้น ต้องติดต่อกับหน่วยบริการเพื่อรับยาไปใช้ให้เพียงพอสำหรับตลอดช่วงเวลาการทำงานในญี่ปุ่นและถ้าอยู่ต่อจากที่กำหนดไว้ จะมีวิธีติดต่อเพื่อรับยาเพิ่มเติมได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ หน่วยราชการของไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือเพื่อขอการผ่อนปรนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดส่งยา” นส.กรรณิการ์กล่าว
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขในญี่ปุ่น กำลังขอหารือกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น เพื่อให้ผ่อนปรนการนำยารักษาโรคที่แต่ละคนจำเป็นต้องใช้เข้าประเทศ และกำลังจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้แรงงานที่จะเข้าไปทำงานญี่ปุ่นทราบถึงหน่วยงานที่จะให้คำปรึกษาหากมีปัญหาสุขภาพ
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครด้านสาธารณสุขชาวไทยในญี่ปุ่นให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โทร 070-5207-6953 และ 080-3791-3630 หรือ ta.wan@hotmail.com.co.jp และ องค์กรแชร์ (SHARE) 038-807-7581