xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทยุ่นยื่นขอพาลูกจ้างไปทำงานญี่ปุ่น3.3พันคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กกจ.เผยมีบริษัทญี่ปุ่น 47 แห่ง ยื่นขอพาลูกจ้างไปทำงานที่ญี่ปุ่น 3,300 คน จัดส่งไปทำงานแล้ว 68 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติ ยันได้รับการดูแลตามกฎหมาย ด้านผู้บริหารพานาโซนิค ขอพา 70 ลูกจ้างบินช่วยผลิตสินค้าที่ญี่ปุ่น ชี้มีฝีมือใกล้เคียงคนญี่ปุ่น ยันยังไม่เลิกจ้างและไม่คิดย้ายฐานการผลิต

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทำให้หลายโรงงานโดยเฉพาะในส่วนของบริษัทต่างชาติ ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้สินค้าขาดตลาด ทางบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ จึงได้ขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานที่บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นจะออกวีซ่าในการทำงานเป็นเวลา 6 เดือน โดยขณะนี้มีบริษัทฯ ยื่นคำขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานที่ญี่ปุ่นผ่าน กกจ.แล้ว จำนวน 47 แห่ง แยกเป็น กทม.25 แห่ง และพระนครศรีอยุธยา 22 แห่ง รวมลูกจ้างทั้งหมด 3,300 คน และได้รับการอนุมัติจัดส่งให้ไปทำงานแล้ว 68คน

"ลูกจ้างที่เดินทางไปทำงานกับบริษัทแม่ของประเทศญี่ปุ่น จะได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามกฎหมายของไทยและญี่ปุ่น ซึ่งทางบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าธรรมเนียมในการทำหนังสือเดินทาง การจัดหาที่พัก พร้อมอาหาร 3 มื้อ รวมถึงการจัดทำประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วยทั้งในและนอกเวลาทำงานตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประกันสังคมของประเทศญี่ปุ่นด้วย" นายประวิทย์ กล่าว

นายโคอิจิ ยามาดะ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท พานาโซนิค อีเล็คทริค เวิร์คส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกทั่วโลก กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรวม 2 แห่ง มีคนงานได้รับผลกระทบกว่า 5,000 คน ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปทั่วโลก ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งการผลิต ดังนั้น บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงขออนุญาตพาลูกจ้าง จำนวน 70 คน ซึ่งมีความชำนาญในสายการผลิต ไปช่วยเร่งผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของตลาด เบื้องต้นจะให้ไปทำงานก่อนเป็นเวลา 3 เดือน

"โรงงานที่นี่ถูกน้ำท่วมจมหมดแล้ว ต้องรอให้น้ำลดจึงจะฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน ส่วนมูลค่าความเสียหายก็ยังประเมินค่าไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องนำลูกจ้างไทยไปช่วยในสายการผลิต เนื่องจากแรงงานไทยมีทักษะฝีมือใกล้เคียงกับแรงงานที่ญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีที่แรงงานไทยจะได้ไปพัฒนาทักษะฝีมือและเรียนรู้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น" นายโคอิจิ กล่าว

นายโคอิจิ กล่าวด้วยว่า ตนรู้สึกเสียดายที่โรงงานประสบอุทกภัย เนื่องจากโรงงานกำลังไปได้ด้วยดี ทำให้ต้องหยุดชะงักไป แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นและขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาเลิกจ้างงานแต่อย่างใด และจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างในอัตรา 75% ตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น