xs
xsm
sm
md
lg

ร.ร.วัดหนองคัน รีสอร์ตการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมนตรี วัฒฐานะ ผอ.โรงเรียนไฟแรง
ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี ของ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดหนองคัน (ไจ พิทยาคาร) โรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ศักยภาพของโรงเรียนก้าวไปถึงระดับการเป็นต้นแบบโรงเรียนมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ในโครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติ “ตามรอยเท้าพ่อ...กับฮอนด้า” โดยกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าผู้อำนวยการโรงเรียน หรือคณะครูผู้ทำกิจกรรมจะเปลี่ยนไปตามวาระ แต่จิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังคงอยู่คู่โรงเรียนวัดหนองคันมาโดยตลอด เพราะการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนและบุคลากรไปแล้ว พิสูจน์ได้ด้วยการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โครงการครั้งที่ 4 (พ.ศ. 2549-2550) จนถึงโครงการครั้งที่ 6 ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2553-2554)

นายมนตรี วัฒฐานะ ซึ่งแม้จะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ แต่ก็ไม่ละทิ้งนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นว่า “โรงเรียนวัดหนองคันมีจุดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ การจัดการสิ่งแวดล้อม และละครชาตรีเท่งตุ๊ก ที่เมื่อพูดถึงจะต้องนึกถึง 2 สิ่งนี้เป็นอันดับแรก ซึ่งตอนที่มารับตำแหน่งผู้อำนวยการในระยะแรกก็ศึกษาในบริบทและจุดเด่นของโรงเรียน และได้เห็นว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เฉลิมพระเกียรติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะได้รับทุนสนุนจากกลุ่มบริษัท ฮอนด้าในประเทศไทยแล้ว ยังได้สร้างให้คณะครูและนักเรียน รวมไปถึงชุมชนที่เกี่ยวข้อง เกิดจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมผ่านทางวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้สานต่อโครงการดังกล่าวควบคู่ไปกับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมด้วย โดยสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเด็กนักเรียนในแต่ละรายวิชาและเชิญพระวิทยากรมาเป็นอาจารย์สอนร่วมด้วย โดยตั้งเป้าพัฒนาโรงเรียนให้เป็น “รีสอร์ตแห่งการเรียนรู้” ซึ่งจะมีการบริหารจัดการในรูปแบบครอบครัว โดยจะประชุมกับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง  หรือในการเข้าร่วมโครงการต่างๆ  ของโรงเรียนก็จะจัดให้เป็นไปตามความสมัครใจและความพร้อมของคณะทำงานอยู่เสมอ ซึ่งนโยบายในตอนนี้เราตั้งใจจะพัฒนาฐานการเรียนรู้ให้เป็นแบบถาวร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยมีนักเรียนเป็นวิทยากรบรรยาย ใช้พี่ประกบน้อง สอนน้อง ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น และวางแผนระยะยาว”
น้องอีฟ
“ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรม ก็คือ ชุมชนที่เข้มแข็ง และให้ความร่วมมือกับโรงเรียนอย่างเต็มที่เสมอมา เพราะถึงแม้จะเป็นชุมชนชนบทแต่ให้ความสำคัญกับการเรียน ซึ่งหลักของโรงเรียนในการผูกมิตรกับชุมชน คือ “การให้และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน” เมื่อเขาขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีต่างๆ เขามาขอใช้สถานที่ หรือกำลังเด็ก ในการออกงาน เช่น คณะอังกะลุง หรือละครชาตรีเราให้ความช่วยเหลือตลอดอย่างเต็มที่ ไม่เคยปฏิเสธ” นายมนตรี กล่าวต่อ
 
ความโดดเด่นของโรงเรียนวัดหนองคันที่แตกต่างและไม่เหมือนใครอีกสิ่งหนึ่ง ก็คือ นวัตกรรมกังหันลมจากวัสดุเหลือใช้ ด้วยทำเลที่ตั้งของโรงเรียนที่อยู่ใกล้ชายทะเล ทำให้มีต้นทุนด้านพลังงานลม จุดประกายให้เกิดการนำพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวิดน้ำ และปั่นไฟใช้ในโรงเรียน โดยมีพัฒนาการของกังหันลมอย่างต่อเนื่อง จากกังหันลมสังกะสีรุ่นแรกใต้อาคารเรียน จนวันนี้เป็นกังหันลมขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่คู่โรงเรียน อาจารย์ปิติยามาศ หลีวัฒนาสิริกุล หรือ ครูต่าย ครูผู้รับผิดชอบฐานการเรียนรู้พลังงานทดแทนเล่าให้ฟังว่า “กังหันลมนี้ทำจากถังน้ำมัน 200 ลิตรผ่าครึ่ง  โดยประโยชน์ที่ได้ คือถ้ากังหันหมุนได้ครึ่งรอบจะสามารถวิดน้ำจากบ่อได้ และหากพัดได้ 1 รอบก็จะปั่นไฟใช้ได้ การปั่นน้ำ ใน 1 วันจะได้ประมาณ 1,000-1,500 ลูกบาศก์เมตร การปั่นไฟ กังหันหมุน 9 รอบจะเกิดกระแสไฟฟ้า 12 โวลต์  ซึ่งจากการนำไปใช้งานจริง กังหันลมตัวนี้ใช้ประโยชน์ได้อเนกประสงค์ ทั้งปั่นไฟใช้ในอาคารเรียน สูบน้ำจากบ่อและเก็บน้ำในถัง เพื่อนำน้ำไปใช้รดน้ำต้นไม้ และใช้ในห้องน้ำต่อได้อีกด้วย” ซึ่งไอเดียสิ่งประดิษฐ์นี้ได้มาจาก นายองอาจ วิสิทธิวงค์ คุณครูภูมิปัญญาที่มาช่วยสร้างสิ่งประดิษฐ์และสอนเด็กๆ นักเรียนในวิชาการประดิษฐ์และการต่อประจุไฟฟ้าให้กับเด็กๆ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 5  ปีแล้ว
กังหันพลังงานทดแทน
นอกจากนี้ ภายในโรงเรียนวัดหนองคัน ยังมีแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ให้ผู้สนใจและคณะโรงเรียนเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโดยการนำเสนอของนักเรียนทั้งหมด 10 ฐาน ได้แก่

1.    พลังงานทดแทนจากกังหันลม และจักรยานปั่นไฟ
2.    การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้
3.    การเลี้ยงปลาดุก
4.    การทำน้ำยาอเนกประสงค์
5.    การทำปุ๋ยหมักดินเลนนากุ้ง “อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และทำปุ๋ยจากเปลือกทุเรียน
6.    ธนาคารขยะรีไซเคิล
7.    บ่อบำบัดน้ำเสีย
8.    การปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดิน และรักษาหน้าดิน
9.    กิจกรรมลดภาวะโลกร้อน
10.    รณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน น้ำ ไฟฟ้า อย่างประหยัดและคุ้มค่า
หมักดินเลนนากุ้งทำปุ๋ย
     
น.ส.ชญานี โชติสุวรรณ์ หรือ น้องอีฟ นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งได้รับรางวัลนักเรียนพระราชทาน เป็นตัวแทนมัคคุเทศก์น้อย พาเยี่ยมชมฐานต่างๆ ของโรงเรียน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ว่า โรงเรียนของมีฐานการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งด้านการจัดการขยะ น้ำ พลังงาน รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“สำหรับสิ่งที่หนูภาคภูมิใจมากที่สุดคือความสะอาด ที่ใครมาถึงจะต้องเอ่ยปากชมเป็นอย่างแรกเลยค่ะ ซึ่งความสะอาดนี้อยู่คู่กับโรงเรียนของเรามาตลอด ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคุณครูและนักเรียนทุกคน ซึ่งจะมีการแบ่งเขตรับผิดชอบความสะอาดตามกลุ่มสี และโรงเรียนของเรายังมีต้นไม้มากทำให้บรรยากาศของโรงเรียนเราร่มรื่นค่ะ”
 
น้องอีฟ เคยได้รับรางวัลนักเรียนพระราชทานระดับประถม ชนะเลิศในระดับภาคตะวันออก และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นักเรียนพระราชทานระดับมัธยม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยทักษะการพูดที่ฉะฉาน ความสามารถรอบด้าน ทั้งการร้อง รำ และการเป็นเสาหลักของครอบครัว ในการดูแลและหาเลี้ยงตา ยาย และน้องชายที่ป่วยเป็นโรคไต ซึ่งน้องอีฟกล่าวว่าการเป็นมัคคุเทศก์ไม่ยาก เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองลงมือทำจริงๆ ทั้งฐานการเรียนรู้ต่างๆ และกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นธนาคารขยะ การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งนักเรียนทุกคนจะมีส่วนร่วมหมด รางวัลนักเรียนพระราชทานที่ได้รับนับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของหนู เงินรางวัลที่ได้รับก็จะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น