xs
xsm
sm
md
lg

ยลแบบพุทธศิลป์ ชูเอกลักษณ์ รากเหง้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปณิธาน เจริญใจ หนึ่งในผู้ออกแบบอาคารทางพุทธศาสนา กำลังอธิบายแบบ
สุกัญญา แสงงาม

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน สำนักสถาปัตยกรรมเคยออกมาแบบมาตรฐานอาคารทางพุทธศาสนา มีลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบภาคกลาง เพื่อนำไปก่อสร้าง พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง กุฏิ หอไตร เมรุ ฯลฯ โดยมีวัดต่างๆ ทั่วประเทศมาขอแบบแล้วนำไปสร้าง ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะนำไปสร้างในภูมิภาคอื่น เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นของไทยจะมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่

ทว่า วันนี้ สำนักสถาปัตยกรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มีการออกแบบครบ 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และ ภาคกลาง เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ปณิธาน เจริญใจ หนึ่งในผู้ออกแบบอาคารทางพุทธศาสนา สำนักสถาปัตยกรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วัดใดหรือผู้มีจิตศรัทธราในพระพุทธศาสนา ต้องการสร้างอาคารแล้วยังไม่มีสถาปนิกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์สามารถมาขอถ่ายแบบได้ที่สำนักสถาปัตยกรรม ซึ่งแบบที่เราออกนั้นสามารถย่อส่วนให้เล็กลง หรือจะขยายส่วนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะสร้าง ถ้าหากยังไม่พอใจแบบมาตรฐาน ต้องการให้ออกแบบใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสถาปัตยกรรมที่ทางวัดมีอยู่ ทีมงานของเรายินดีออกแบบให้ฟรี

“ถ้าจะให้ออกแบบใหม่ สำนักสถาปัตยกรรม จะส่งทีมงานลงพื้นที่ จากนั้นจะออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิม ส่วนการดำเนินการก่อสร้างทางเราจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่จะดูไม่ให้ผิดไปจากแบบเท่านั้น” ปณิธาน กล่าว

พงศ์พิพัฒน์ ศรีวราลักษณ์ หนึ่งในผู้ออกแบบอาคารทางพุทธศาสนา กล่าวเสริมว่า ก่อนออกแบบได้มีการลงพื้นที่สำรวจพุทธศิลปะสถาปัตยกรรมของแต่ละภูมิภาค อย่างของภาคเหนือ พบว่าอิทธิ พลศิลปะแบบล้านนาได้กระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีการผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมของอาณาจักรใกล้เคียง อาทิ สุโขทัย พม่า ดังนั้น จึงออกแบบสไตล์ “ล้านนา” เช่น ลักษณะของพระอุโบสถ ที่ทอดอาคารตามแนวยาว มีหลังคาซ้อนหลายชั้นและหลายตับ ลดหลั่นกันเป็นจังหวะ ตามการย่อมุมของผังพื้นอาคาร ชายคาทอดคลุมต่ำ ฐานยกพื้นสูง เป็นต้น โดยคำนึงถึงพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับข้อบัญญัติในพระวินัยหรือประเพณีปฏิบัติทางศาสนาของท้องถิ่น
แบบร่างอุโบสถมาตรฐาน ภาคเหนือ-กลาง
ส่วนวัสดุจะเน้นวัสดุสมัยใหม่ หาง่ายในท้องตลาด โครงสร้างหลักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างหลังคาเป็นโครงสร้างเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาท้องถิ่น โดยเราคำนึงถึงน้ำหนักและความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างเป็นหลัก

สำหรับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น หน้าบันลูกฟักม้าต่างไหม แป้นลม หรือเครื่องลำยองโหง่ หรือช่อฟ้า หางหงส์หัวนาค โก่งคิ้ว ทวยนาคขะตัน-หูช้าง ฯลฯ ส่วนรายละเอียดการแกะลวดลาย จะไม่ลงรายละเอียด เพื่อเปิดโอกาสให้ช่างศิลปกรรมพื้นถิ่นสามารถสร้างสรรค์ ปรับแต่งรายละเอียดของอาคารให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามสกุลช่าง ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์หรือชุมชนของตนเอง

แบบมาตรฐานอาคารทางพุทธศาสนา เน้นการออกแบบให้สอดคล้องสภาพของท้องถิ่น สำหรับลวดลายจะให้ช่าง หรือปราชญ์ ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมรังสรรค์ลวดลายด้วย” พงศ์พิพัฒน์ กล่าว

ขณะนี้สำนักสถาปัตยกรรมรู้สึกเป็นห่วง เนื่องจากมีวัดหลายแห่งรื้อพระอุโบสถ หอระฆัง หอไตร ที่มาอายุนับร้อยปีทิ้งแล้วสร้างหลังใหม่ทดแทนในที่เดิม ถ้าหากเป็นไปได้อยากให้เก็บรักษาเอาไว้ แล้วสร้างหลังใหม่คู่กันเพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษารากเหง้าของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น