วงเสวนา เผย สถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทย ยังถูกกดขี่-ทารุณ-รีดไถ จาก จนท.รัฐ ระบุ แรงงานมีรายได้น้อยแค่ 4-5 พัน แต่เสียค่าใช้จ่ายหลักหมื่น จี้รัฐเร่งแก้ไข ก่อนประเทศถูกลดระดับต่ำสุด ส่งผลถูกกีดกันทางการค้า ด้านผู้แทน ก.แรงงาน เผย ขึ้นทะเบียนล่าสุด 1 ล้านคน แต่มีต่างด้าวมาขอใบอนุญาตทำงานแค่ 8 แสน วอนเร่งทำ ก่อนหมดเขต 12 ต.ค.นี้
ใน งานเสวนาเรื่อง “กะเทาะสถานการณ์การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ สิทธิ ความหวังของแรงงาน และการดำเนินการของรัฐบาลไทย” จัดโดย มูลนิธิดีเพื่อการทำงานที่เป็นประโยชน์ ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเปิดเผยสถานการณ์จดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ล่าสุด แม้จะมีผู้มาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่พบว่ายังเหลือแรงงานข้ามชาติอีก 3-4 ล้านคน ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ขณะเดียวกัน ยังพบการใช้แรงงานอย่างทารุณ โหดร้าย และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการหาผลประโยชน์
นาย สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า สังคมไทยยังมองต่างด้าวในแง่ลบ มองว่าจะมายึดประเทศหรือแย่งงานทำ ทำให้มีปัญหาตลอด ทั้งนี้ จาการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของสภาทนายความ ใน 5 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากพบว่า แรงงานต่างด้าวมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4-5 พันบาท แต่ต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุด ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าประเทศครั้งละ 1.5 หมื่น 2 หมื่นบาท และแรงงานเกือบทุกคนเคยโดนจับและรีดไถจากเจ้าหน้าที่ เสียเงินตั้งแต่ 500 บาทถึง หลักหมื่นบาท นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าพิสูจน์สัญชาติ 3,800 บาท หากเป็นแรงงานประมงก็จะเสียเพิ่มขึ้นสูงถึงหมื่นบาท ทั้งหมดเป็นเรื่องของขบวนการผลประโยชน์เข้าเกี่ยวข้อง
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ ตนจึงอยากเสนอเปลี่ยนชื่อแรงงานต่างด้าว เป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะส่งผลต่อทัศนคติ ต้องมีการขึ้นทะเบียนแรงงานทุกคนรวมถึงผู้ติดตาม และต้องปรับให้การขึ้นทะเบียนทำได้ง่ายและสะดวก ต้องกำจัด เหลือบที่เรียกเก็บส่วย และต้องผลักดันประเทศเพื่อนบ้าน ให้พิสูจน์สัญชาติอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่แต่ออกเพียงหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ ส่วนการจับกุมแรงงานผิดกฎหมายแต่ละปีจับส่งออก 6 แสนคน แต่สุดท้ายก็กลับเข้ามาอีก ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการจับบวนการขนคนเข้ามา เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ ไม่เคยจับรายใหญ่
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า จากนี้รัฐต้องมองเรื่องการทำงานของแรงงานต่างด้าวใหม่ ต้องส่งเสริมธุรกิจที่ถูกกฎหมายและลงโทษกิจการที่ไม่ถูกต้อง เช่น กิจการที่มีการให้แรงงานต่างด้าวทำงานหนัก บางกิจการต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หรือกิจการที่มีการกระทำทารุณ โหดร้าย ส่วนนโยบายค่าจ้าง 300 บาทแรงงานต่างด้าวต้องได้เท่าแรงงานไทย ซึ่งจะทำให้งานหลายประเภทคนไทยมีโอกาสได้ทำมากขึ้น ส่วนกิจการที่ต้องการใช้แรงงานค่าจ้างต่ำก็ให้ย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือตามแนวชายแดน ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมด หากเรายังไม่รีบแก้ไข สหรัฐอาจจะลดระดับประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการใช้แรงงานอย่างเลวร้ายที่สุด ซึ่งจะส่งผลจากการถูกตัดเงินช่วยเหลือหรือสิทธิพิเศษทางการค้า
ขณะที่ นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หลังจากมีการขึ้นทะเบียนแรงงานครั้งล่าสุด พบว่า แม้จะมีผู้มาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่ยังเหลือแรงงานข้ามชาติอีก 3-4 ล้าน คนที่ยังไม่ได้จดทะเบียน นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้รับการร้องเรียนในพื้นที่สมุทรสาคร ว่า ปัจจุบันแรงงานถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและยัดข้อหาเล่นการพนันหวยจำนวนมาก สาเหตุมาจากแรงงานปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติมาก ขึ้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่ยัดข้อหา และเรียกเก็บเงินสูงครั้งละ 1-1.5 หมื่นบาท นอกจากนี้ ยังชอบยึดยึดทรัพย์สิน เช่น คอมพิวเตอร์ อย่างไม่มีความผิด รวมถึงยึดเอกสารราชการ เช่น พาสปอร์ต และเรียกเก็บเงินถ้าไม่ให้ก็จะถูกจับกุม
ด้าน นายภัทรวุธ เภอแสละ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า จากการเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งล่าสุด มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนขอ ทร.38/1 รวม 1.04 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดจะต้องมาขอใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ แต่ล่าสุด มีแรงงานต่างด้าวมาขอใบอนุญาตทำงานเพียง 8 แสนคน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบเหมือนการเปิดขึ้นทะเบียนทุกครั้งดังนั้นในอนาคต กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาทางทำความเข้าใจกับแรงงาน ต่างด้าวให้มากขึ้น