xs
xsm
sm
md
lg

13 ปี “บ้านคลิตี้ล่าง” ชีวิต สายน้ำ ที่ไร้หวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปากทางเข้าหมู่บ้านคลิตี้ล่าง
โดย...ทิติยา เถาธรรมพิทักษ์

“บ้านคลิตี้ล่าง” เป็นที่รู้จักของคนในสังคมตั้งแต่ปี 2541 หลังจากที่ตกเป็นข่าวว่าเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียของโรงแต่งแร่ที่ตั้งอยู่บริเวณเหนือหมู่บ้าน ส่งผลให้ “ลำห้วยคลิตี้” ที่เปรียบดั่งสายเลือดของชาวบ้านมีสารตะกั่วปนเปื้อนจำนวนมหาศาล

และนั่นก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้อยใหญ่ รวมทั้งมนุษย์ที่อาศัยและฝากชีวิตกับลำห้วยแห่งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยที่รุมเร้า การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน น้ำที่เคยดื่มใช้กลับใช้ไม่ได้ ต้องใช้น้ำประปาภูเขาที่ยังคงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น สัตว์น้ำที่เคยจับกินกลับกินไม่ได้อย่างเคย ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อจากพ่อค้าภายนอกที่เข้ามาขายในหมู่บ้าน

แม้วันนี้โรงแต่งแร่จะปิดตัวลงแล้ว แต่ผลกระทบของสารตะกั่วที่บริษัทเหมืองได้สร้างเอาไว้ก็ยังคงมีอยู่ ตะกอนปนเปื้อนของสารตะกั่วยังคงนอนนิ่งอยู่ใต้ลำห้วย โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการฟื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างไร ขณะที่ชาวบ้านเองก็ต้องพึ่งลำห้วยต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนอาการเจ็บป่วยที่เรื้อรังขาดมาตรการในการดูแลที่ชัดเจนก็ยังคงมีอยู่ คดีความที่แม้ชาวบ้านจะชนะในศาลอุทธรณ์ แต่ก็ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนของศาลฎีกา โดยที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด รวมถึงอีกหลายคดีที่เพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น

สิ่งที่น่าคิดคือ ชาวคลิตี้ล่างที่เคยพึ่งพาอาศัยลำห้วยแห่งนี้หล่อเลี้ยงชีวิต จะมีความหวังสำหรับอนาคตของลูกหลาน ชุมชนและสายน้ำของพวกเขาอย่างไรต่อไป

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา ได้บอกเล่าถึงวิถีชีวิตชาวคลิตี้ล่างในปัจจุบันให้ฟังว่า ชาวคลิตี้ล่างทำมาหากินและใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุขเรื่อยมาโดยการพึ่งพาอาศัยพืชพันธุ์ธรรมชาติในชุมชน และสิ่งเดียวที่มีค่าสำหรับชาวบ้านและสามารถนำมาแปรเป็นเงินไว้เป็นค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยได้คือ ควาย แต่เมื่อควายล้มตายจากการเดินลงไปกินน้ำที่ลำห้วยที่มีสารตะกั่วอยู่ ก็เท่ากับว่าทรัพย์สินของชาวบ้านก็ได้สูญหายไปด้วย

“จากการที่สื่อลงมาทำข่าวเมื่อปี 2541 และก็ได้มีการคาดว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข แต่ความจริงแล้วกลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ดังนั้น ชาวบ้านคิดว่า หากปล่อยไว้แบบนี้คงไม่ดีแน่ จึงนำไปสู่การฟ้องร้อง และจากวันนั้นถึงวันนี้สารตะกั่วจำนวน 15,000 ตันยังอยู่ในลำห้วย ไม่เคยมีการขุดออกมาจากลำห้วยเลย แผนการฟื้นฟูก็ยังไม่มี และการรักษาชาวบ้านตลอด 13 ปีที่ผ่านมาก็ได้มีแต่การเก็บข้อมูล เฝ้าระวัง ตรวจเลือดชาวบ้านแต่ไม่มีการวินิจฉัยเลยว่าเป็นโรคพิษสารตะกั่ว

ขณะที่ กำธร ศรีสุวรรณมาลา กรรมการหมู่บ้านคลิตี้ล่าง บอกว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากผ่านมา 13 ปีแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่จบ การแก้ไขต่างๆ ก็ยังไม่สำเร็จลุล่วง ถ้าจะให้หวังว่าในอนาคตอยากให้ลำห้วยและชาวบ้านคลิตี้ล่างเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ว่าจะให้เป็นอย่างไร เพราะยังมองไม่เห็นทางออก ต้องมองตั้งแต่ต้นว่าถ้าไม่มีเหมือง เหมืองไม่ปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยคิดว่าอนาคตวันข้างหน้าก็คงไม่ต้องเป็นเหมือนในอดีตและปัจจุบัน อย่างเมื่อก่อนพืชผักที่สามารถเก็บได้ตามลำห้วยเดี๋ยวนี้ก็ต้องซื้อกิน น้ำก็กินไม่ได้ก็ต้องใช้น้ำจากประปาภูเขาแทน และชาวบ้านก็ไม่มีความคิดที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นเพราะเราเกิดและอาศัยที่นี่มาตลอดชีวิต ดังนั้น สิ่งที่ควรย้ายออกก็คือ เหมือง สารตะกั่วที่อยู่ในน้ำเหมืองก็ควรรับผิดชอบ และมีหน้าที่ในการขุดลอกออกไป

ไม่ต่างจาก สมพงษ์ ทองผาไฉไล ชาวบ้านบ้านคลิตี้ล่าง ที่บอกว่า ในส่วนตนคิดว่าความหวังที่จะให้หมู่บ้านคลิตี้กลับมาเหมือนเดิมยังมองไม่เห็น ยังมืดไปทุกด้าน เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ผลกระทบก็เยอะไม่ว่าจะเป็นน้ำในลำห้วย หรืออาการเจ็บป่วยชองชาวบ้าน วัวควายก็ล้มตาย อนาคตลูกหลานวันข้างหน้าจึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงแม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลแต่ก็ยังไม่ได้ทำกันอย่างจริงจัง ปัญหายังเรื้อรังอยู่ รู้เพียงแต่ว่าถ้าไม่มีเหมืองไม่มีสารตะกั่วอนาคตลูกหลานชาวคลิตี้ล่างคงจะดีกว่าทุกวันนี้แน่

“ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ต้องตายจากการไปกินน้ำที่ลำห้วย ปลาเล็กปลาน้อยก็ตาย ชาวบ้านต้องพิการ ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากพิษสารตะกั่ว ที่เสียชีวิตไปก็เยอะ แม้ปัญหาจะเกิดมานานแล้วและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันแก้ไข แต่ก็ยังคงไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้ จนถึงวันนี้ 13 ปีผ่านมาปัญหาก็ยังคงเดิม ขณะที่ชาวบ้านก็แทบจะไม่คาดหวังกันแล้วว่าอนาคตวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะมองไม่ออกจริงๆ แต่ก็ดีใจที่มีคนหลายคนเข้าใจปัญหาและพยายามเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้”

ด้าน ชลาลัย นาสวนสุวรรณ หรือน้ำ อายุ 22 ปี เยาวชนคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านคลิตี้ล่าง บอกว่า ทุกคนในหมู่บ้านจะผูกพันกับลำห้วยนี้มาก ทั้งใช้อาบ ดื่ม ทำการเกษตร หาปลา เด็กๆ ก็มาว่ายน้ำเล่น เช่นเดียวกับตนเองที่ถึงแม้ว่าจะได้มีโอกาสไปศึกษานอกหมู่บ้านตั้งแต่อยู่ชั้น ม.1 แต่เมื่อถึงช่วงปิดเทอมก็จะกลับมาบ้าน ใช้ชีวิตกับลำห้วยนี้เหมือนคนอื่นๆ แต่แล้วก็มีสิ่งผิดปกติในลำห้วย คือ น้ำมีสีขุ่นข้น มีกลิ่นเหม็น ซึ่งทุกคนก็ยังไม่รู้ว่านี่คือสารตะกั่วแต่คิดว่าเป็นขี้โคลนจึงยังใช้ดื่มกินกันปกติ มารู้อีกทีเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งปวดข้อ ปวดหัว เด็กที่เกิดมามีหัวโต ตัวเล็ก ร่างกายไม่แข็งแรง พิการ บ้างก็เสียชีวิต

“หลังจากที่ชาวบ้านรู้ว่าในน้ำมีสารตะกั่วก็ยังใช้น้ำจากลำห้วยนี้อยู่ ซึ่งตอนแรกๆ ก็อาจจะรู้สึกกลัวอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะไปเอาน้ำจากไหนมาใช้ก็ต้องมาเอาจากที่นี่ ส่วนตัวเองก็เคยไปตรวจค่าสารตะกั่วในร่างกายเช่นกัน มีประมาณ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ก็ไม่ได้กินยาหรือรักษาอะไร”

เยาวชนบ้านคลิตี้ล่าง ยังได้บอกถึงความคาดหวังเกี่ยวกับลำห้วยคลิตี้ว่า อยากให้มีการแก้ไข หรือทำอย่างไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูหรือดูดตะกั่วออกจากน้ำ และอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายช่วยกันอย่างจริงมากกว่านี้ เพราะชาวบ้านทุกคนต่างก็อยากให้ลำห้วยคลิตี้กลับมาใสสะอาดไร้สารปนเปื้อน สามารถนำไปใช้ได้เหมือนในอดีต
ลำห้วยคลิตี้


เด็กๆ ชาวคลิตี้ล่าง
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วจนทำให้ตาบอด
น้ำ-ชลาลัย นาสวนสุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น