xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ กสม.กระตุ้นรัฐชัดเจนมาตรการดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์
เลขาธิการ กสม.ห่วงชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสู้รบ กระตุ้นรัฐบาลให้มีความชัดเจนในการดูแลเยียวยาประชาชน ด้านเอ็นจีโอประณามกัมพูชานำเด็กและสตรีขึ้นมาอยู่บนปราสาทพระวิหาร เพื่อใช้เป็นโล่มนุษย์ ชี้ เด็กควรได้รับการคุ้มครองไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงคราม

วันนี้ (26 เม.ย.) นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกเป็นห่วงที่มีรายงานข่าวว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นห่วงทรัพย์สินไม่ยอมอพยพหนีภัยออกจากพื้นที่ หรือบางครอบครัวอพยพออกไปแล้ว หัวหน้าครอบครัวก็กลับเข้าไปใหม่เพื่อไปเฝ้าทรัพย์สิน ซึ่งในเรื่องนี้ ตนเห็นว่า รัฐบาลจะต้องประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และให้มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะดูแลทรัพย์สินของชาวบ้านในระหว่างที่ต้องอพยพออกจากที่พักอาศัย หรือหากเกิดความสูญเสียเกิดขึ้น รัฐจะต้องชดใช้เยียวยาให้อย่างพอเพียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และต้องรีบทำความเข้าใจและให้ความมั่นใจกับประชาชนในเรื่องนี้

นพ.ชูชัย กล่าวว่า เมื่อเกิดการสู้รบ บุคคลที่เป็นพลเรือนย่อมได้รับการคุ้มครองตามหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักการด้านมนุษยธรรมสากล ว่า จะต้องไม่เป็นเป้าโจมตีทางทหาร แต่ที่ผ่านมา ที่พักอาศัยของชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวางจากการถูกโจมตี รัฐบาลจำเป็นต้องคุ้มครองพลเรือน คือ ชาวบ้าน โดยเฉพาะเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ โดยอพยพบุคคลเหล่านี้ไปสู่พื้นที่ปลอดภัย และบุคคลเหล่านี้ถือเป็น “ผู้พลัดถิ่นในประเทศ” ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่จะต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ความปลอดภัย การจัดสถานที่พักพิงชั่วคราว และการช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่ รวมถึงรัฐบาลต้องประกันการฟื้นฟูเยียวยาหลังเหตุการณ์

นพ.ชูชัย ย้ำว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ หากรัฐยังไม่ให้คำมั่นที่ชัดเจนในการฟื้นฟูเยียวยาที่ เหมาะสมพอเพียง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีชีวิต หรือพึ่งพาพื้นที่อาศัยในการยังชีพ เช่น ชาวนา เกษตรกร จะเป็นห่วงทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง ผลผลิตการเกษตรที่ต้องทิ้งไว้เบื้องหลังและไม่ยอมอพยพ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน โดยการให้คำมั่นแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบว่าจะได้รับการ ชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมหรืออย่างพอเพียง มิฉะนั้น จะทำให้ประชาชนเหล่านี้ได้รับอันตรายเพราะไม่ยอมละทิ้งบ้านเรือน

ด้านนายอุบล สวัสดิ์ผล เจ้าหน้าที่โครงการปกป้องคุ้มครองเด็ก องค์การแพลนประเทศไทย พื้นที่ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า จากกรณีข่าวที่ว่ากองทัพกัมพูชานำเด็กและสตรีขึ้นมาอยู่บนปราสาทพระวิหาร เพื่อใช้เป็นโล่ห์มนุษย์ป้องกันการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายไทยนั้น ในฐานะที่ตนทำงานด้านปกป้องคุ้มครองเด็ก มองว่าไม่ว่าจะเป็นเด็กประเทศไหน ก็ควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ควรที่จะนำเด็กเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องสงคราม หรือเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งในปฏิบัติการทางทหาร และการเมืองเป็นอันขาด

สำหรับกรณีของฝ่ายไทย นายอุบล กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากกรณีการปะทะกันเมื่อต้นเดือน ก.พ.54 ที่ผ่านมา จากการประชุมร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า นอกจากที่ทางการจะคุยเรื่องแผนอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ หากเกิดกรณีภัยพิบัติหรือเหตุปะทะแล้วควรจะนำวาระเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการอพยพด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาพบเห็นกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายเรื่อง เช่น กรณีเด็กพลัดหลงจากพ่อแม่ เพราะพ่อคิดว่าลูกไปแม่ แม่ก็คิดว่าไปกับพ่อ บางคนต้องใช้เวลา 2-3 วันกว่าจะหากันเจอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสุขภาวะต่างๆ ที่จะป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อโรคจากการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องที่หลับที่นอนสำหรับทารกแรกเกิดและเด็กเล็กควรจะมีที่เฉพาะให้แม่และเด็กแยกอยู่ต่างหากด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น