วิทยาลัยช่างศิลป์ เผย แบบลวดลายฉากบังเพลิงเทวดา-ดอกบัวตูม ส่งเสด็จสู่สวรรค์ ระบุ นำศิลปะร่วมสมัยผสมผสานไทย เสริมความงดงามอย่างสมพระเกียรติ พร้อมเปิดให้นักเรียน นักศึกษา ศึกษาการออกแบบ-ร่วมทำฉากบังเพลิงด้วย
นายสนั่น รัตนะ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) เผยความคืบหน้าการออกแบบลวดลายฉากบังเพลิง ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ว่า ส่วนบนได้ออกแบบรายละเอียดให้ฉากบังเพลิงดูมีมิติ และดูสวยงามมากขึ้น โดยมีทั้งฉากชั้นนอกและชั้นใน โดยชั้นนอกเป็นฉากบังเพลิง 4 ด้านของทางขึ้นและลง นำเสนอเทวดาท่ายืน 4 องค์ รวม 16 องค์ ส่วนตราสัญลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ เรื่องนี้จะต้องรอมติคณะกรรมการเขียนฉากบังเพลิง โดยมี นายกมล สุวุฒโฑ เป็นประธาน และความเห็นชอบจากสถาปนิกผู้ออกแบบพระเมรุ
สำหรับฉากบังเพลิงชั้นใน จะมีลักษณะของหมู่เทวดาส่งเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์ จะใช้แนวความเชื่อเรื่องไตรภูมิ และจะใช้เทพเป็นองค์ประกอบลวดลาย มองเป็นความละเอียดอ่อน มีระยะให้เห็นว่าเป็นเทวดาซ้อนๆ กันขึ้นไป ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับการออกแบบงานพระเมรุในยุคปัจจุบัน เป็นการออกแบบเป็นศิลปแบบร่วมสมัยมาผสมผสานกับความงดงามแบบไทย แสดงให้เทวดามีสามมิติด้วยขนาดใหญ่เล็กตามระยะ เปรียบเสมือนการที่เทวดามารับเสด็จพระองค์สู่สรวงสวรรค์
พร้อมกันนี้ ส่วนล่างของฉากบังเพลิงนั้น ยังได้ออกแบบลวดลายเป็นรูปทรงดอกบัวตูม หรือ พุ่มข้าวบิณฑ์ 3 ดอก สื่อความหมายเพื่อใช้ในการส่งเสด็จพระองค์สู่สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และให้พระองค์ได้นำดอกบัวตูม บูชาพระเจดีย์จุฬามณี พระบรมสารีริกธาตุองค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้า ในสรวงสวรรค์ ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ส่วนเรื่องสีของฉากบังเพลิงทาง สบศ. ทราบข้อมูลเบื้องต้นของพระองค์ท่านประสูติวันอังคาร คือ สีชมพู อย่างไรก็ตาม จะต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับตัวโครงสร้างและสีพระเมรุ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักว่าใช้สีอะไรก่อน จากนั้นจะนำรายละเอียดต่างๆ มาปรับแต่งลวดลายฉากบังเพลิงให้มีความกลมกลืนกับตามโครงสร้างพระเมรุอย่างสมพระเกียรติที่สุด
นายสนั่น กล่าวว่า การดำเนินงานยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ช่างศิลป์ ที่สนใจได้เข้ามีส่วนร่วมศึกษางานพระเมรุ เช่น งานพระเมรุจะไม่ใช้ยักษ์จะออกแบบเทพทั้งหมด นี่คือ ขนบธรรมเนียมโบราณต่างๆ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมลงมือปฎิบัติจริงในการดำเนินงานถวายเช่นเดียวกับเมื่อครั้งถวายงานฉากบังเพลิง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์