xs
xsm
sm
md
lg

เนรมิตพระเมรุสมพระเกียรติ ยอดพระเมรุประดับ “เบญจปฎลเศวตฉัตร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนรมิตพระเมรุเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ สมพระเกียรติ ยอดพระเมรุประดับ “เบญจปฎลเศวตฉัตร” ขาว 5 ชั้น สมพระเกียรติเจ้าฟ้า เริ่มก่อสร้างปลายเดือนธันวาคมนี้ แล้วเสร็จ มี.ค.55 ส่วน ช่างแทงหยวก “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ให้ทายาท “ครูประสม” ช่างเมืองเพชร รับสนองงาน  สบศ.เผย แบบร่างฉากบังเพลิงเทวดา 16 องค์ส่งเสด็จสู่สรวงสรรค์

วันนี้ (19 ก.ย.)  ที่กระทรวงวัฒนธรรม  (วธ.) นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น  อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะผู้ดำเนินการออกแบบพระเมรุ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นางโสมสุดา ลียะวณิช  อธิบดีกรมศิลปากร  และ นายกมล สุวุฒโท อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ร่วมแถลงข่าวการออกแบบและการก่อสร้างพระเมรุพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ

นางสุกุมล  กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมอบหมายให้ วธ.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบออกแบบ และก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากร เตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  บัดนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รูปแบบพระเมรุแล้ว และพระราชทานกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 9 เม.ย.2555 ดังนั้น วธ.จะเริ่มดำเนินการตามภารกิจต่างๆ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการเขียนแบบพระเมรุ และเริ่มงานก่อสร้างอาคารประกอบ รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในงานพระราชพิธี

นางโสมสุดา กล่าวว่า ในส่วนของ กรมศิลปากร ได้เตรียมความพร้อมในภารกิจงานพระราชพิธี  4  ด้าน  ได้แก่ 1.การจัดสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบ  2. การจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ และหนังสือที่ระลึก 3.การบรรเลงดนตรีไทยและประโคมย่ำยาม และ 4.การจัดการแสดงมหรสพสมโภช ตามโบราณราชประเพณี และตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   

ด้าน พล.อ.ต.อาวุธ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ร่างพระเมรุแล้ว ซึ่งคล้ายกับ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  แต่เปลี่ยนยอดพระเมรุเป็นยอดมณฑป และมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย  ให้เป็นไปตามพระเกียรติยศ ของ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ สำหรับขนาดของพระเมรุนั้น ได้กำหนดขนาด กว้าง 28 เมตร  ยาว 30 เมตร สูง 33 เมตร โดยยกพื้นเป็น 2 ระดับ ชั้นล่างเดินได้รอบ สูง 1.20 เมตร ส่วนชั้นบน  ที่ตั้งจิตกาธาน มีความสูง 3 เมตร

“ขนาดพระเมรุจะมีขนาดย่อมกว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระศพอยู่ในหีบ ดังนั้น พื้นที่ที่จะใช้จึงมากกว่า ซึ่งครั้งนี้พระศพอยู่ในพระโกศ พระจิตกาธานจึงเล็กกว่า ส่วนการตกแต่งต่างๆ มีลักษณะคล้ายกัน  สำหรับ ผ้าทองย่นนั้น จะนำมาจากประเทศจีน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นธุระจัดหา โดยจะใช้ประมาณ 80 ม้วน ม้วนหนึ่งยาวประมาณ 70 เมตร” พล.อ.ต.อาวุธ อธิบาย

พล.อ.ต.อาวุธ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้เป็นปีมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีรับสั่งว่า ไม่ต้องการให้มีพระเมรุอยู่บริเวณท้องสนามหลวงในช่วงเวลาดังกล่าว จึงคิดว่า จะเข้าไปก่อสร้างและประกอบที่สนามหลวงในภายหลัง จากงานเฉลิมพระชนมพรรษาในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้  อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะมีการขยายแบบที่โรงละครแห่งชาติ แล้วนำไปประกอบภายหลัง คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนแล้วเสร็จในปลายเดือนมีนาคม 2555  ส่วนงานที่จะต้องดำเนินงานก่อน คือ บูรณะเวชยันตราชรถ  การสร้างพระโกศจันทน์ ซึ่งครั้งนี้จะใช้ไม้จันทน์จำนวนไม่มาก และการจัดสร้างพระโกศ (พระอัฐิ) ด้วยทองคำลงยา สำหรับรูปปั้นเทวดาจะใช้ของเก่าบางส่วน และจัดทำเพื่อเติมด้วย

พล.อ.ต.อาวุธ กล่าวว่า ช่างแทงหยวกงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ลูกหลานของนายประสม สุสุทธิ ช่างเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้แทงหยวกงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เนื่องจากนายประสม ได้เสียชีวิต โดยได้ประสานไปยังลูกหลาน ซึ่งทุกคนพร้อมจะทำงานถวายในงานดังกล่าว ส่วนฉัตรที่จะใช้ประดับยอดพระเมรุนั้นเป็น “เบญจปฎลเศวตฉัตร” เป็นฉัตรขาว 5 ชั้น มีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน 2 ชั้น ใช้สำหรับพระราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยยศชั้น “เจ้าฟ้า”

นายกมล  กล่าวว่า สบศ.ได้รับมอบหมายให้จัดทำศิลปกรรมประกอบพระเมรุ และร่วมกับกรมศิลปากรจัดมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ   ซึ่งในส่วนของฉากบังเพลิง จะมีการเขียนใหม่ ขณะนี้ได้ออกแบบไว้แล้ว  แต่ต้องรอการจัดสร้างสถาปัตยกรรมพระเมรุให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนแนวคิดจากการออกแบบจะใช้หลักการเดียวกับครั้งพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยมีทั้งฉากชั้นนอกและชั้นใน โดยชั้นนอกเป็นฉากบังเพลิง 4 ด้านของทางขึ้นและลง นำเสนอเทวดาท่ายืน 4 องค์ รวม 16 องค์ มีสัญลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ส่วนฉากบังเพลิงชั้นใน จะมีลักษณะของเทวดาส่งเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์ และจะมีการออกแบบผนังประกอบพระเมรุด้านในด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นายสาคร โสภา นายสนั่น รัตนะ ซึ่งเป็นอาจารย์ของวิทยาลัยช่างศิลป สบศ.เป็นผู้ดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น