xs
xsm
sm
md
lg

หมอใหม่เมินชนบทเซ็งแค่แพทย์ชั้น 2 ชี้ปรับแพง 1 ล้านฉุดไม่อยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยแพทย์รุ่นใหม่มีค่านิยมไม่ยอมตกเป็นแพทย์ชั้นสองด้วยการทำหน้าที่ในชนบท แห่เบี้ยวทุนผลิตแพทย์ เหตุอยากมีเงิน-มีชื่อเสียง- มีอนาคต ผอ.รพ.แม่สาย ชี้เงื่อนไขเพิ่มเงินค่าปรับ เพิ่มระยะเวลาชดใช้ทุนไม่ช่วยรักษาแพทย์ชนบทไว้ได้ แนะควรมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงโครงการผลิตเเพทย์เพื่อชนบท (CPIRD) ว่า จากปัญหาที่พบในโครงการดังกล่าว คือ แพทย์มักลาออกก่อนใช้ทุนครบตามเวลาที่กำหนดส่งผลให้แพทย์ในชนบทขาดแคลน ดังนั้น คสช.จึงทำข้อเสนอแก่คณะกรรมการพัฒนากำลังคน ซึ่งมี นพ.มงค ณ สงขลา เป็นประธาน โดยขณะนี้ทราบว่า คณะกรรมการดังกล่าว ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับทราบแล้ว เนื่องจากกระทรวงเป็นเจ้าของโครงการ และจะได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบต่อไป โดยข้อเสนอที่ว่ามีประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1.ขยายโครงการผลิตเเพทย์เพื่อชาวชนบทต่อห้าปี (2557-2561) โดยให้ขยายสัดส่วนจำนวนเเพทย์ของโครงการไว้ร้อยละห้าสิบของนักศึกษาเเพทย์ทั้งหมด 2.กำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานชดใช้ทุน เพิ่มจากเดิม 3 ปี เป็น 6 ปี กรณีผิดสัญญาชดใช้ทุน กำหนดค่าปรับเพิ่มจาก 4 เเสนบาทเป็น 1 ล้านบาท

“โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เน้นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในต่างจังหวัดมีการเข้ามาศึกษาด้านวิชาชีพแพทย์มากขึ้น เพื่อจะได้จบมาแล้วเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในชนบท โดยไม่ต้องแข่งขันกับแพทย์ในเมือง ดังนั้นควรที่จะมีการดำเนินการต่อไป แต่เพื่อป้องกันปัญหาการเบี้ยงจ่ายทุนก็ต้องเพิ่มเพดานการจ่ายค่าปรับ” นพ.อำพลกล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ด้านนพ.สุระ คุณคงคาพันธ์ ผู้อำนวยการ รพ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า ในส่วนของ รพ.แม่สาย นั้น มีแพทย์จำนวน 8 คน บริการผู้ป่วยทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ในส่วนของผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 70-80 รายต่อวันต่อคน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยนอกมีมารับบริการเฉลี่ยวันละ 500 รายและผู้ป่วยในมีจำนวนรายวัน 120 ราย มีเตียงมาตรฐานรองรับ 90 เตียง ส่วนที่เกินมาต้องจัดเตียงเสริมให้ โดยขณะนี้มีแพทย์ที่กำลังใช้ทุนจากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทประจำการ 1 คน ซึ่งแพทย์รายนี้ได้แจ้งแล้วว่า กำลังจะลาออกเพื่อไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ทั้งๆที่ยังใช้ทุนไม่ครบกำหนด ขณะที่ภาพรวมของโรงพยาบาลนั้นมีแพทย์ใช้ทุนมาปฏิบัติภารกิจทุกปีๆ ละ 2-3 ราย ส่วนมากก็จะไม่ค่อยอยู่ใช้ทุนครบตามกำหนด เหตุผลเพราะแพทย์รุ่นใหม่มีค่านิยมที่ว่า หากไม่มีการเรียนต่อและจมอยู่กับหน้าที่แพทย์ชนบทก็จะหมายถึงการเป็นแพทย์ชั้นสอง ดังนั้น จึงยอมจ่ายเงินค่าปรับเพื่อเรียนต่อและจบออกมาเป็นแพทย์เฉพาะทาง และมักเข้าไปรับจ้างใน รพ.เอกชน เพราะงานสบาย รายได้ดี หรือกล่าวง่ายๆ คือ เน้นประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น

นพ.สุระ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอในการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้ทุนในหลายๆประเด็นนั้น คิด ว่า เรื่องระยะเวลาในการใช้ทุน 6 ปี เป็นเวลาที่เหมาะสมก็จริง ส่วนเพดานการจ่ายค่าปรับหากใช้ทุนไม่ครบตามเวลาที่กำหนดนั้นที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนเงินที่รับได้ แต่จากการที่คลุกคลีอยู่กับ รพ.ชุมชน มานาน คิดว่า เงื่อนไขดังกล่าวคงไม่สามารถยื้อแพทย์ไว้ในชนบทได้ หากไม่มีการเพิ่มค่าตอบแทน เนื่องจากแพทย์รุ่นใหม่นั้นฝังติดกับค่านิยมเรื่องรายได้และชื่อเสียงกันมาก ขณะเดียวกันการปลูกฝังจริยธรรมในนักศึกษาแพทย์เพื่อให้เน้นปฏิบัติหน้าที่อย่างแพทย์ชนบทด้วยหัวใจจริง ก็สำคัญ ดังนั้น จะยัดเยียดโอกาสเฉยๆ ไม่ได้ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงระบบการศึกษาด้วย

“ปัญหาแพทย์ลาออกก่อนทุนหมดและแพทย์สมองไหลไปสู่ระบบเอกชน นั้นมีมาให้เห็นจนชินตากับแพทย์ยุคปัจจุบัน คนชนบทเองก็ป่วยไม่ใช่น้อยประกอบกับโรงพยาบาลแม่สายรับรักษาชาวต่างชาติสูงถึง 30% ของผู้ป่วยทั้งหมด ภาระหน้าที่ของแพทย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นชัด บางครั้งเรื่องของความอยากมีอนาคตที่ดีก็เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ ยิ่งปัจจุบันสถานพยาบาลเอกชนมีสวัสดิการและค่าตอบแทนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ภาระดูแลผู้ป่วยต่อแพทย์ 1 คนเฉลี่ยแค่ 5-10 ราย ต่อวันก็ย่อมเป็นแรงดึงดูดที่น่าสนใจ” นพ.สุระกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น