รายงานพิเศษโดย : จารยา บุญมาก ouiboonmark@yahoo.com
“สิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือ การเกิดสงครามทางความคิดเกี่ยวกับผู้ใช้ยา ระหว่าง “อาชญากร” กับ “เหยื่อ” ดังนั้น การที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ได้ต้องมีสะพานการสื่อสาร (Bridge Communicate) ทั้งสองความคิดอย่างลงตัวจึงจะสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้” อาดี มันธารา ผู้อำนวยการองค์กรยายาซาน เกเซฮาตาน เกาะบาหลี หรือ ยาเกบา (Yayasan Kesehatan Bali : Yakeba ) ประเทศอินโดนีเซีย เล่าถึงแนวความคิดในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ช่วยบำบัดให้ผู้ที่ใช้ยาเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการลดอันตรายจากการใช้ยา(Harm Reduction) กับหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ในบาหลีด้วย
นับเป็นโอกาสดีที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทยได้ไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานขององค์กรยาเกบาที่มีส่วนร่วมกับมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเอดส์และเอชไอวี ซึ่ง อาดี ผู้อำนวยการหนุ่มประจำองค์กร อธิบายเพิ่มว่า แม้ในระดับสากลมีมาตรการหลักในการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด 4 ด้านได้แก่ การให้เมธาโดนและสารทดแทน การให้คำปรึกษาและ การตรวจคัดกรอง การให้ยาต้านไวรัส และการให้เข็มฉีดยาสะอาด แต่การยอมรับและให้โอกาสของสังคมนับเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิด มาตรการดังกล่าวได้ ซึ่งยาเกบาเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้คนทั่วไปแปรเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่ว่า ผู้ใช้ยา คือ อาชญากร ผู้ใช้ยาคือบุคลอันตราย มาเป็นมุมมองที่ว่า ผู้ใช้ยาคือเหยื่อของธุรกิจค้ายา
อาดี เล่าต่อว่า กิจกรรมในองค์กร เน้นบริการให้คำปรึกษาผู้ที่อยากเลิกยา และอยู่ระหว่างการบำบัดยาเสพติด ทั้งในหน่วยงานและในชุมชน โดยบริการไปแล้วกว่า 630 ราย ซึ่งถือเป็นบริการสาธารณะทำให้กลุ่มผู้ใช้ยาสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ทันท่วงที กระทั่งภาพรวมของผู้ใช้ยาในปี 2552 ที่มีจำนวน 3,000 กว่ารายก็ลดลงเหลือเพียง 800 กว่าราย ขณะที่สถานการณ์ของผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์และเอชไอวี ซึ่งมีสาเหตุจากการใช้เข็มฉีดยา ที่ในอดีตนั้นพบกว่า 60% ก็เหลือแค่ 40% เท่านั้น
“สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการบำบัดและรับสารทดแทนนั้น หลายคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสื่อรณรงค์ถึงอันตรายจากยาเสพติด เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ บางกลุ่มก็เดินสายเพื่อเล่าประสบการณ์แก่เยาวชน ขณะที่บางกลุ่มร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลมีส่วนในการผลักดันนโยบายดูแลเรื่องโรคเอดส์และสนับสนุนโครงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดอย่างจริงจัง เพื่อให้ชีวิตใหม่แก่อดีตผู้ใช้ยาทุกคนโดยไม่แบ่งแยกศาสนา” อาดี กล่าวเสริม
ขณะที่ พญ.พูตู เจอรี ปาดี แพทย์ประจำศูนย์บริการสุขภาพกูต้า (Kuta health Service ) เมืองบาหลี กล่าวว่า เนื่องจากบาหลีเป็นเมืองท่องเที่ยวปัญหาด้านสุขภาพที่มาจากการใช้ยาเสพติดย่อมมากเป็นอันดับต้นๆ จนนำมาสู่ปัญหาผู้ติดเชื้อเอดส์ และเอชไอวีจากการใช้เข็มด้วย ซึ่งหากระบบสาธารณสุขไม่มีมาตรการรองรับโดยเฉพาะการให้สารทดแทนและแจกเข็มสะอาด ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็จะมากขึ้น ปัญหาค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลแบกรับก็จะสูงตามลำดับ ดังนั้น เมื่อองค์กรเอดส์ชาติของอินโดฯ ให้การยอมรับกับนโยบายเรื่องเข็มสะอาดอย่างถูกกฎหมาย ในปี 2550 จึงเท่ากับว่า เป็นจุดเริ่มในการเดินหน้าเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์และเอชไอวี จากการใช้ยาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีโครงการนำร่องใน 14 จ.ทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยในส่วนของศูนย์ฯ มีผู้ป่วยมาที่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองและซักประวัติทั้งหมด 261 ราย อยู่ในระหว่างรักษา 57 ราย และเลิกยาได้เด็ดขาด 18 ราย เสียชีวิต 5 ราย ที่เหลือขาดการติดต่อกับศูนย์
“ผู้ป่วยทีมารับการรักษาจะเริ่มที่การซักประวัติและตรวจวัดระดับสารเสพติดเพื่อยืนยันอาการ จากนั้นจะพิจารณาแจกเข็มฉีดยาและให้สารเมทาโดน พร้อมๆกับการบริการให้คำปรึกษาและการตรวจคัดกรองเอดส์และเอชไอวีด้วย โดยรับผู้ป่วยทั้งทางตรงและรับต่อจาก รพ.ซังลาเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยแพทย์จะค่อยๆลดระดับสารเมทาโดนลงเรื่อยๆ จนกว่าจะเลิกยาได้เด็ดขาด โดยใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี” พญ.พูตู เจอรี กล่าว
หากย้อนดูเมืองไทยแม้องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ในปี 2553 ประเทศไทยอาจมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ประมาณ 900 คน ก็ตาม ทว่าข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและมุมมองทางสังคมที่ยังไม่เอื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถให้บริการแจกเข็มสะอาดได้
นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ยาก เพราะยังขัดต่อกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ อีกทั้งคนส่วนใหญ่ก็ยังรับไม่ได้กับแนวทางแจกเข็มสะอาด ต่างจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย จีน เวียดนาม อินเดีย ที่เปิดกว้างสำหรับโครงการดังกล่าวแล้ว
โครงการบำบัดยาเสพติดและมาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดในบาหลี สะท้อนให้เห็นว่า บาหลีได้ทลายกำแพงกฎหมายและมุมมองทางสังคมได้สำเร็จ แต่ชีวิตใหม่ของเหยื่อยาเสพติดจะเป็นไปอย่างรอติดตามตอนที่ 2 ในวันพรุ่งนี้