กทม.เตรียมประสาน รฟม.ปรับแบบโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เหตุทับซ้อนสายสีเขียวของกทม.ตรงสถานีบางหว้า ชี้หากปล่อยผ่านจะมีปัญหาด้านความปลอดภัย ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารอ่อนนุช- แบริ่ง เล็งนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารกทม.เห็นชอบที่ 15 บาทแน่น่อน
วันนี้ (16 ก.ย.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ว่า ขณะนี้ กทม.รอการพิจารณาอนุมัติการขอใช้พื้นที่เกาะกลางถนนตากสิน-เพชรเกษม เพื่อก่อสร้างโครงการจากทางหลวงชนบท (ทช.) พร้อมทั้งจะประสานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการปรับแบบโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) และส่วนต่อขยายสายสีลม บริเวณจุดตัดผ่านสถานีบางหว้า (S12) เพื่อให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้าเปิดทันกำหนด 5 ธ.ค.2555
นายธีระชน กล่าวด้วยว่า เนื่องจากแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของรัฐบาล มีการออกแบบพาดผ่านหลังคาโครงสร้างของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม บริเวณสถานีบางหว้า (S12) ทำให้ต้องมีการแก้ไขแบบ โดยกทม.จะเสนอให้มีการลดระดับหลังคาโครงสร้างสถานีบางหว้า (S12) และขอความร่วมมือไปยัง รฟม.ในการปรับแผนงานและการก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉพาะบางส่วน โดยยกระดับรางบริเวณช่วงจุดตัดพาดผ่านให้สูงขึ้น พร้อมกันนี้ จะเสนอ รฟม.ให้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าบริเวณจุดตัดดังกล่าวก่อน เนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นบริษัทเดียวกัน และหากไม่ดำเนินการในจุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จไปพร้อมกัน จะทำให้เมื่อสถานีบางหว้าดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ยังมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนบริเวณจุดตัดดังกล่าว ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยจะไม่อนุญาตให้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายวิ่งไปยังสถานีบางหว้า (S12) ได้
ทั้งนี้ กทม.จะประสานกับ รฟม.โดยมอบหมายให้ นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัด กทม.ในฐานะเป็นคณะกรรมการผู้แทนกรุงเทพมหานครในคณะกรรมการ รฟม. หารือร่วมกับผู้บริหารและคณะกรรมการของ รฟม.เพื่อให้มีการก่อสร้างรางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปพร้อมกับสถานีบางหว้า (S12) เป็นลำดับแรก เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ในภาพรวม อีกทั้งจะทำให้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีลม ช่วงตากสิน-บางหว้า เปิดให้บริการประชาชนได้ทันกำหนด 5 ธ.ค.2555
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2555 นั้น จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในวันธรรมดาอยู่ที่ 1.2 แสนคน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 8 หมื่นคน บวกกับประมาณการการจัดเก็บภาษีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจึงคิดว่าไม่จำเป็นที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทแต่ให้เก็บในอัตรา 15 บาทตลอดสายซึ่งตนเองจะเสนอให้ที่ประชุมคณะผู้บริหารกทม.เห็นชอบในการจัดเก็บอัตราดังกล่าวและค่อนข้างมั่นใจว่าคณะผู้บริหารจะตัดสินใจเก็บในอัตรานี้