xs
xsm
sm
md
lg

กรมพินิจผุดเครื่องมือใหม่ "เกาถูกที่คัน" แก้โจ๋ก้าวพลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นำทีมคณะกรรมการกำกับทิศ ลงพื้นที่นำร่อง อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ติดตามการทำงานของเครื่องมือใหม่หลังใช้จริง ว่าช่วยเด็กก้าวพลาดได้สัมฤทธิ์ผลเพียงใด พร้อมนำเสียงสะท้อนมาปรับแก้ หวังได้เครื่องมือถอดรหัสปัญหาเด็กและเยาวชนไทย เพื่อคืนเด็กดีร่วมพัฒนาชาติสำเร็จ โดยครั้งนี้แก้ปัญหาเด็กแบบ “เกาถูกที่คัน” ครั้งแรกของไทย

พลันที่การประกาศใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งในกฎหมายดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ และโครงสร้างขององค์กรนอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กเยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว รวมถึงกระบวนการพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

โดย นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะประธานโครงการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า
 
“ในขณะเดียวกับการประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ เราได้ทดลองนำเครื่องมือใหม่เพื่อใช้ในการจำแนกเด็กและเยาวชน เพื่อประเมินหาปัจจัยเสี่ยงและความจำเป็นที่ทำให้เด็กกระทำความผิด นำออกใช้จริงด้วย  ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการพัฒนาระบบการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็ก  และเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ประกอบด้วย 3 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเด็ก คือ สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม, กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน”

โดยเป็นเครื่องมือที่สามารถจำแนกปัจจัยเสี่ยงปัจจัยจำเป็นในการกระทำความผิดของเด็ก ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูสำหรับเด็กที่กระทำผิดเพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด กระทั่งติดตามประเมินผลว่าเด็กแต่ละคนจะไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำหลังกลับคืนสู่สังคม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“ในประเทศไทยเองใช้กฎหมายเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเป็นฉบับที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 2495 โดยที่ผ่านมายังไม่มีการพัฒนาเครื่องมือการประเมินสาเหตุของปัญหาและแรงจูงใจในการกระทำผิดของเด็ก และใช้เพียงแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป ไม่ครอบคลุมถึงสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยสำคัญและมีการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกัน ขาดการส่งต่อข้อมูลที่เป็นระบบ สำหรับเครื่องมือดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่เป็นแบบสอบถามเบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัยของศาลในการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กและช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ซึ่งการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการฯดังกล่าวนี้จนได้เครื่องมือใหม่ ในการเข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมที่ออกแบบขึ้นให้เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีสาเหตุและปัญหาในการกระทำผิดแตกต่างกัน จึงเชื่อว่าจะสามารถคืนเด็กที่มีคุณภาพสู่สังคมได้ในที่สุด และเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและง่ายต่อการใช้งานของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการนำไปพัฒนาเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปในการช่วยประมวลผลและจัดทำรายงาน

สำหรับการลงพื้นที่นำร่องในครั้งนี้มีคณะกรรมการกำกับทิศ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ สสส.แต่งตั้งขึ้นเพื่อประเมินผลการทำงานของโครงการฯ ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการเข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเด็กในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ พร้อมทั้งดูว่าเครื่องมือดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรหลังการนำใช้จริง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับแก้ไขเครื่องมือเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อปรับปรุงเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน  31 ธันวาคม 2554 นี้

ปัจจุบันสถิติคดีของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนพบว่า ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนไทยที่กระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจาก 30,668 คดี เป็น 51,128 คดี เพิ่มขึ้นถึง 12,656 คดี คิดเป็นร้อยละ 41.3  ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการกระทำผิดซ้ำ ร้อยละ 13 โดยมีการกระทำผิดในคดีลักทรัพย์มากที่สุดร้อยละ 28.88  รองลงมาคือ คดียาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 20.11 และคดีเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงต่อชีวิต ร่างกายร้อยละ 15.22 และเชื่อว่าหลังนำเครื่องมือดังกล่าวออกใช้ได้เต็มประสิทธิภาพจะสามารถลดสัดส่วนการกลับมากระทำผิดซ้ำของเด็กลงได้ราว 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น