xs
xsm
sm
md
lg

“ธวัชชัย ไทยเขียว” ริเริ่มเพื่อเด็กที่ก้าวพลาด/ส่องคนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง สภาพปัญหา และอุปสรรคการดำเนินการของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553” เพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้บริหารกรมพินิจฯ ถึงปัญหาและอุปสรรค การดำเนินงานของศูนย์ฝึกและอบรม หลังประกาศใช้ กฎหมายใหม่ ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆนี้
การบำบัด ฟื้นฟู เด็ก และเยาวชน ที่ก้าวพลาด ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2554 เป็นต้นมา อาจไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง หากเครื่องมือที่ใช้จำแนกบำบัด ฟื้นฟูและติดตามผลเด็กและเยาวชนไม่ได้มาตรฐานและไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

 นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในฐานะผู้หนึ่งที่ร่วมผลักดันกฎหมายและริเริ่มเครื่องมือจำแนกการบำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชน บอกถึงจุดเริ่มต้นในริเริ่มสร้างเครื่องมือในการจำแนกประเภท เพื่อบอกเหตุปัจจัยเสี่ยงและเหตุปัจจัยจำเป็นที่ทำให้เด็กกระทำความผิดว่า ก่อนหน้านี้ใช้เครื่องมือในการวินิจฉัยถึงแรงจูงใจในการกระทำผิดของเด็กโดยใช้เครื่องมือจากต่างประเทศ 2 เครื่องมือ ซึ่งไทยต้องเสียค่าลิขสิทธิ์มาโดยตลอด

อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เล่าว่า กรมพินิจฯ ร่วมกันกับสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการดำเนินการ โดยได้นำข้อมูลจากการวิจัยต่อยอดในการพัฒนาเครื่องมือจำแนกประเภท เพื่อบอกเหตุปัจจัยเสี่ยงและเหตุปัจจัยจำเป็นที่ทำให้เด็กกระทำความผิด ซึ่งไทยไม่เคยมีมาก่อน นั่นทำให้รู้เหตุผลที่ชัดเจนขึ้นในการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน และช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัยจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและติดตามหลังปล่อย เพื่อส่งเด็กให้ถึงฝั่งจริงๆ

“เรากำลังจะเล่นกับการปรับพฤติกรรมมนุษย์การใช้สามัญสำนึกหรือความรู้สึกมาใช้ในการตัดสินใจ ความดี เลว ชั่ว จึงไม่น่าจะใช่ และที่สำคัญไม่มีความชัดเจนในที่สุดได้พัฒนาเครื่องมือในการจำแนกฯ ได้สำเร็จ ขณะนี้ได้รับการยอมรับทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนเครื่องมือของต่างชาติที่ใช้อยู่ ได้เป็นอย่างดี”

ส่วนประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าว นายธวัชชัย บอกว่า ผ่านขั้นตอนตรวจสอบเรียบร้อย โดยมีการเก็บข้อมูลจากเด็กๆ ราว 600 คน โดยเปรียบเทียบ 3 เครื่องมือ คือ 1.แบบจำแนกประเมินพฤติกรรมเด็ก (The Strengths and Difficulties Questionnaire - SDQ)  ของเยอรมัน 2.แบบจำแนกเยาวชนกระทำความผิด (เมอร์ซี่) ซึ่งทั้ง 2 แบบต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ และ 3.แบบประเมินปัจจัยเสี่ยงปัจจัยจำเป็นที่พัฒนาขึ้นเก็บเด็กกลุ่มเดียวกัน โดยแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นเด็กที่ทำผิดตั้งแต่ 4 ครั้งเป็นต้นไป 2.เด็กที่ทำผิดครั้งแรก และกลุ่ม 3 เด็กที่ทำผิดคดีอุจฉกรรจ์จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต และกลุ่ม 4 ความผิดเล็กน้อย ผลปรากฏว่า เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถทดแทนเครื่อง 2 ประเภท อีกทั้งสามารถบอกได้ว่า ความผิดนั้นเกิดจากเหตุปัจจัยใด ทั้งปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยจำเป็น และทำนายอนาคตได้ด้วย ทำซ้ำด้วยเหตุปัจจัยใด เป็นเครื่องมือชิ้นแรกของประเทศไทยไม่เคยมีเครื่องมือจำแนกเหตุและปัจจัยเสี่ยงมาก่อน ซึ่งเร็วๆ นี้ กำลังจะพัฒนาเป็นซอฟแวร์สำเร็จรูป ซึ่งสามารถประมวลผลได้ โดยใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม.สามารถออกรายงานเรื่องเหตุปัจจัยเสี่ยงและเหตุปัจจัยจำเป็น สาเหตุการทำความผิดของเด็กได้เลย

เพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เคยพลาดพลั้ง อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บอกว่า เนื่องจากงานวิจัยนี้ต่อเนื่อง 3 ปี ทำให้ทราบข้อมูลเพิ่มขึ้นว่า เด็กจะเกิดความเครียดมากที่สุด เมื่อไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือ เมื่อเด็กที่ได้รับคำสั่งให้ฝึกในศูนย์ฝึกอบรม และที่สำคัญเมื่อเด็กและครอบครัวยังมีปัญหาโดยเฉพาะด้านการสื่อสารที่มักไม่ตรงกัน เนื่องจากพ่อแม่ยังใช้ประสบการณ์และความคาดหวังเดิมๆ กดดันลูก ในขณะที่ลูกไม่เข้าใจในสิ่งที่อยากจะให้เป็น ดังนั้นจึงมีการจัดให้เด็กได้เข้าโปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ เช่น โปรมแกรมพื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชนในสถานแรกรับที่ควบคุมระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี เช่น ในกรณีที่เด็กและเยาวชน เป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในตัวเอง คิดว่า เป็นคนที่แย่ก็จะให้เข้าร่วมกิจกรรมเสริมพลังเสริมความเชื่อมั่น ค้นหาบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เช่น อ่านประวัติ สตีฟ จ๊อบ เจ้าของไอแพด แล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเด็กเป็นต้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะนำไปประกอบการพิจารณาของศาลเพื่อให้เป็นคุณกับเด็ก ว่าเด็กได้รับการบำบัดก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีแล้ว

นอกจากนี้ หากเด็กมีปัญหาก่อนที่จะส่งตัวไปที่อื่น ก็จะมีการพัฒนาโปแกรมชุดการเตรียมความพร้อมเพื่อส่งต่อหรือเตรียมความพร้อมก่อนไป ส่วนกรณีที่ศาลสั่งฝึกแล้วในช่วงสัปดาห์แรกเด็กจะเครียดมากก็จะมีโปรมแกรมพื้นฐานสำหรับเด็กและเยาวชนให้เด็กในศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กทุกคนต้องเข้าเป็นโปรแกรมบังคับ ทดสอบว่า มีปัญหาก่อนและหลังเข้าโปรแกรม ก่อนส่งครูที่ปรึกษา โดยรายงานศาลทุก 6 เดือน สุดท้ายโปรมแกรมการสื่อสารกับครอบครัว ซึ่งจะมีกิจกรรมกึ่งเข้าค่าย โดยพ่อแม่ต้องมาร่วมกิจกรรมด้วย รวมโปรแกรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและติดตามหลังปล่อยเพื่อเตรียมกลับสู่อ้อมกอดของพ่อแม่
 

สุดท้าย นายธวัชชัย ได้แต่คาดหวังหวังว่า จะสามารถค้นหาเหตุปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยจำเป็นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เกาถูกที่คันทำมห้ไม่เสียทรัพยากรในสิ่งที่ไม่คุ้มค่าที่สำคัญหากเด็กไม่มีปัญหาด้านนี้เมื่อเข้าไปปั่นป่วนเด็กก็ยิ่งแย่ ขณะที่สิ่งที่เป็นปัญหาไม่รู้เลยไม่ได้ไปแก้ สุดท้ายไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น เชื่อว่า วิธีการพัฒนาเครื่องมือใหม่นี้จะช่วยป้องกันเด็กกระทำผิดซ้ำได้จำนวนมาก  

ส่องคนคุณภาพโดย : วรรณภา บูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น