สุกัญญา แสงงาม
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าแดนอาทิตย์อุทัยขึ้นชื่อเรื่องระบบความปลอดภัยเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากรัฐบาลตลอดจนผู้ประกอบการ ต่างให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ได้พาน้องนักศึกษาทีม Doctory จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ชนะเลิศการประกวดภาพยนตร์สั้น ในโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางท้องถนน “ถนนสีขาว” พร้อมคณะ บินลัดฟ้าไปทัศนศึกษา ดูงานด้านการขับขี่ปลอดภัยที่ “Toyota Safety Education Center Mobilitas”ที่จังหวัดชิซึโอกะ ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ โตโยต้า นอกจากจะพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีศูนย์การอบรมวิธีการขับขี่อย่างปลอดภัยภายในสถานการณ์ขับขัน เชื่อว่าหลายคนอยากรู้ว่าศูนย์นี้เขาสอนอะไรบ้าง
นายโทชิโอะ คันโน (Mr.Toshio Kanno) ในฐานะหัวหน้าผู้ฝึกสอนและผู้ออกแบบสนาม บอกว่า เมื่อ 30 ปีก่อนคนญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนนับหมื่นรายปัจจุบันลดลงเหลือหลักพัน ตัวเลขนี้ยังถือว่าจำนวนสูง สิ่งที่เราต้องการ คือ ลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือเท่ากับ “ศูนย์” แต่ก็ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้น จึงขอให้ตัวเลขการสูญเสียน้อยที่สุด
ถามว่าแล้วจะใช้วิธีไหนล่ะ ซึ่งพวกเราระดมสมองโดยศึกษาว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากอะไรบ้าง หัวหน้าผู้ฝึกสอนและผู้ออกแบบสนาม พอสรุปได้ว่า สภาพถนน คนขับ สภาพรถยนต์ จากนั้นตระเวนศึกษาสภาพถนนในญี่ปุ่น แล้วมาเนรมิตสนามทดสอบการขับขี่บนพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร ให้เหมือนสภาพถนนจริงๆ มีถนนโค้งเป็นรูปตัวเอส ตัวแซด ถนนสภาพเปียก ฝนตก หิมะตก หลบสิ่งกีดขวาง ถนนโค้งในลักษณะเกือบพลิกคว่ำ เป็นต้น
“เหตุผลที่จำลองสถานการณ์และออกแบบสภาพถนนในลักษณะต่างๆ เป็นการเตือนสติให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่าเมื่ออยู่หลังวงมาลัยจะต้องมีสติ ไม่ใช่ขับรถเป็นอย่างเดียวต้องสามารถแก้ไขหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือสิ่งที่ไม่คาดคิด อย่างแรกต้องไม่ตื่นตระหนกตกใจ ประคองรถได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ” นายคันโน กล่าว
นายคันโน แสดงความเห็นว่า ขับรถเป็น ขับรถได้ ไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือ ขับอย่างไรให้ปลอดภัย เพราะฉะนั้น คนที่นั่งหลังพวงมาลัยจะต้องมีความรู้พื้นฐานระบบการทำงานของเครื่องยนต์ รู้จักวิธีการใช้ระบบความปลอดภัยภายในรถยนต์ของตัวเอง เนื่องจากรถยนต์แต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน เคารพกฎระเบียบการจราจร
“จริงๆ แล้ว ญี่ปุ่นมีการปลูกฝังด้านการจราจร ความปลอดภัยบนท้องถนน ตั้งแต่ระดับอนุบาล อย่างโตโยต้า ทำหนังสือการ์ตูนมอบให้โรงเรียนใช้เป็นคู่มือการสอนทุกปี สำหรับระดับประถม จะมีหลักสูตร จักรยาน เพราะเด็กวัยนี้เริ่มขี่จักรยานได้แล้ว จำเป็นจะต้องให้เด็กรู้กฎ วินัยการจราจร รู้จักมีน้ำใจต่อกัน ที่สำคัญ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือใกล้ๆ จะขี่จักรยานมาจอดแล้วต่อรถสาธารณะ ส่วนผู้ที่จะได้ใบขับขี่กฎหมายบังคับว่าจะต้องผ่านหลักสูตรโรงเรียนสอนขับรถซะก่อนแล้วการเรียนการสอนจะสอนในสนามเท่านั้นจะไม่ให้หัดขับบนถนนจริง โดยจะฝึกจนครูฝึกมั่นใจว่าลูกศิษย์ของตัวเองมีความชำนาญพอที่จะผ่านขั้นตอนการสอบของกรมตำรวจได้แล้ว แม้ว่าจะผ่านโรงเรียนสอนขับรถแล้วก็ตาม กว่าจะได้ใบขับขี่จะสอบ 2-3 ครั้ง เมื่อผ่านแล้วเวลาขับรถยนต์จะต้องติดสัญลักษณ์ “มือใหม่” เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างนี้ห้ามขับรถไปชน เพราะมีผลต่อใบขับขี่” นายคันโน กล่าว
อย่างไรก็ดี คณะดูงาน ได้มีโอกาสนั่งรถยนต์ทดสอบถนนหลากหลายสถานการณ์ คือ สภาพถนนเปียกลื่น เปรียบเสมือนขับรถขณะฝนตก ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วเบรกหลบสิ่งกีดขวาง และการขับขี่เส้นทางตัวเอสและตัวแซด โดยรถยนต์ที่มีระบบ VSC ควบคุมการหมุนของรถไม่ให้รถพลิกคว่ำ นอกจากนี้ ยังขับรถโดยที่ไม่มีระบบ VSC ในกรณีที่ถนนลาดเอียง 35 องศา ขับรถบนถนนขรุขระ
น.ส.ฐิติภรณ์ ดวงรัตนานนท์ นักศึกษาแพทย์มหิดล แสดงความเห็นว่า ขนาดรู้ตัวล่วงหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ยังรู้สึกหัวใจเต้นเร็ว เพราะแรงเหวี่ยงของรถยนต์ โดยเฉพาะการเบรกกะทันหันแล้วรถยนต์หมุน 360 องศา จึงฉุกคิดว่า ครูฝึกเขามืออาชีพ รู้จังหวะการหมุนยังรู้สึกถึงแรงเหวี่ยง ถ้าไม่เคยผ่านการฝึกขับขี่หักหมุนพวงมาลัยอย่างนี้จะหมุนกี่รอบ แล้วจะประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันหรือไม่
พอได้สัมผัสระบบความปลอดภัยของญี่ปุ่นแล้ว อยากให้ประเทศไทย มีโรงเรียนสอนขับรถยนต์ได้มาตรฐาน และมีศูนย์การอบรมวิธีการขับขี่อย่างปลอดภัย โดยจำลองสภาพถนนเหมือนบ้านเราบ้าง เพราะปีหนึ่งๆ มีผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือเทศกาลที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน มักจะมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 20,000 คน ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลังการรักษาบางรายร่างกายพิการไปตลอดชีวิต จะมีปัญหาการใช้ชีวิตด้วย