xs
xsm
sm
md
lg

“รับใช้ประชาชน” คู่มือข้าราชการมืออาชีพฉบับ “นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล”/คอลัมภ์ส่องฅนคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จารยา บุญมาก

ในสายตาประชาชนทั่วไป ข้าราชการที่เป็นถึงผู้บริหารระดับสูงเป็นงานที่มีเกียรติถือเป็นความสำเร็จในสายอาชีพ และมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบน่าภาคภูมิใจ

ทว่า สำหรับ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.2554 นี้ กลับมองว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีตัวตน แต่ความภูมิใจมีได้ตลอด หากรักในวิชาชีพและไม่ยอมหยุดนิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพตนเอง แม้ว่ายศถาบรรดาศักดิ์จะสูงเท่าใดแต่ข้าราชการก็คือผู้รับใช้ประชาชน รับใช้สังคม

วิสัยทัศน์ที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นในหน้าที่ ทำให้รองปลัดฯท่านนี้ขึ้นแท่นบริหารหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งทุกตำแหน่งต่างมีภาระหนักแต่ก็ช่วยให้ได้สัมผัสกับสังคมข้าราชการที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม หลังเกษียณอายุราชการ นพ.ศิริวัฒน์ ก็ยังมุ่งมั่นทำงานไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ นพ.ศิริวัฒน์ จะร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะคณะกรรมการของ สสส.รวมทั้งดูแลเรื่องการคุ้มครองประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยทางท้องถนนด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้หมายถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนที่ข้าราชการไม่ควรละเลย

เมื่อถามว่า มีสิ่งใดที่ยังคั่งค้างอยากให้มีผู้สานต่อบ้าง รองปลัด สธ.ไม่อาจให้คำตอบได้หมดแต่กล่าวไว้รวมๆว่า สิ่งสำคัญคือต้องไม่ละทิ้งนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการส่งเสริมด้านสุขภาพ ซึ่งตนเชื่อว่า ผู้บริหารรุ่นใหม่ย่อมมีความคิดในเชิงพัฒนาให้ก้าวหน้าเสมอ

การดำเนินงานด้านนโยบายอาจสิ้นสุดลงโดยวัย โดยอายุ แต่คนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหมอ ไม่สามารถมองข้ามปัญหาสุขภาพของประชาชนไปได้ ดังนั้นเรื่องให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ อุบัติภัยจราจร เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การประเมินเทคโนโลยีสุขภาพ ตลอดจนภาวะเด็กขาดธาตุไอโอดีน อยากให้ผู้บริหารทุกคนอย่าท้อกับอุปสรรค เพราะหัวใจของหมอ ก็คือ การที่เห็นประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง” นพ.ศิริวัฒน์ อธิบาย

นพ.ศิริวัฒน์ บอกอีกว่า นอกจากจะเป็นคณะกรรมการของ สสส.แล้ว ยังได้รับการทาบทามจากสำนักงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้เป็นทีปรึกษาอีกด้วย โดยงานส่วนนี้จะเน้นการส่งเสริมเรื่องการปรับปรุงแนวทางบริการของสถานพยาบาลในระดับปฐมภูมิให้มีมาตรฐาน เน้นให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ เชื่อว่า หากทำได้ระบบการบริการก็จะมีความเป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดความแออัดและภาระหน้าที่ของบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุขระดับทุติยภูมิได้ด้วย

ด้วยประสบการณ์ที่อัดแน่นด้วยคุณภาพ นพ.ศิริวัฒน์ จึงแบ่งเวลาส่วนหนึ่งรับใช้สังคมด้วยการร่วมมือกับธุรกิจด้านการแพทย์กับบริษัทเอกชน เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์มอบแก่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในถิ่นทุรกันดาร โดยมีชมรมแพทย์ชนบทเป็นผู้ดำเนินการกระจายอุปกรณ์และบริหารเงินที่ได้รับบริจาค ตามความเหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้น ยังตั้งกองทุนช่วยเหลือ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนด้วย แม้รู้ดีว่า ไม่อาจสะสางปัญหาหนี้สินทั้งหมดที่ รพ.ต้องแบกรับ อย่างน้อยได้นับหนึ่งสำหรับจุดเริ่มต้นของกองทุนแก่สถานบริการได้บ้าง ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องยากลำบากแต่อย่างใด

ณ เวลานี้กระทรวงสาธารณสุข เป็นเหมือนผู้โอบอุ้ม สุขภาพของคนไทยแทบจะทั้งประเทศ ช่วงชีวิตข้าราชการคนหนึ่งไม่อาจเป็นผู้ที่ทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ แต่การคิดและพัฒนาตนเอง รวมทั้งหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง คือ ฟันเฟืองที่จะช่วยปลดปมปัญหาทีละนิดๆ ขออย่าหยุดขับเคลื่อนฟันเฟืองที่สำคัญนี้เป็นพอ ประชาชนก็รับรู้ได้แล้วว่า ข้าราชการทุกคนทำหน้าที่ดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำแล้วสำเร็จภายในครั้งเดียว แต่ทุกคนต้องผ่านความผิดพลาดบ้าง ล้มแล้วลุกใหม่ ยังใช้ได้เสมอ อย่างน้อยก็แสดงถึงความไม่ยอมแพ้ของผู้บริหาร ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้ผู้บริหารรุ่นใหม่รับรู้ คือ เดินหน้าช้าๆ ดีกว่าอยู่กับที่ ถึงจะเรียกว่าทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ” รองปลัด ทิ้งท้าย

ประวัติโดยสังเขป

การศึกษา
- แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล
- Master degree of Community Nutrition, University of Queensland, Australia.
- ปริญญามหาบัณฑิตการจัดการภาครัฐ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

การทำงาน
- ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ ตราด จันทบุรี
- ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน จังหวัดตราด และนนทบุรี
- หัวหน้าสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบ
- นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย
- รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
- รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับ 10
- ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
- ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข
- รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

เกียรติประวัติ
- ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ เช่น การรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ อุบัติภัยจราจร เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การคุ้มครองผู้บริโภค การประเมินเทคโนโลยีสุขภาพ ตลอดจนภาวะเด็กขาดธาตุไอโอดีน
- ผู้ก่อตั้งศูนย์นมแม่
- ได้รับรางวัล Baby-Friendly Province Award จาก UNICEF เมื่อปี 2537 ในขณะเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย
- ได้รับรางวัลนายแพทย์สาธารณสุขดีเด่นในปี 2537
- เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2551
- รางวัลเชิดชูเกียรติเป็นกรณีพิเศษจากเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม ปี 2551 จากการต่อรองราคายา CL
กำลังโหลดความคิดเห็น