xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” รับข้อเสนอยกเลิกทีคิวเอฟแต่ไม่โละทั้งหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสมา 1 รับข้อเสนอคณาจารย์สายสังคม ยกเลิกทีคิวเอฟ แต่ย้ำไม่ยกเลิกทั้งระบบได้ รับปรับวิธีการกรอกเอกสาร โดยมอบ สกอ.ไปดำเนินการและหาวิธีแก้ปัญหา ขณะที่ สกอ.เตรียมนำเข้าที่ประชุมกกอ.พิจารณาหาช่องทางต่อไป

เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 9 ก.ย.ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตัวแทนคณาจารย์คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประมาณ 10 คน นำโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เดินทางมายื่นรายชื่อคณาจารย์กว่า 700 คน ที่ร่วมลงชื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (ทีคิวเอฟ) พ.ศ.2552 ต่อนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และมีดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศกึษา (เลขาธิการ กกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ กกอ. ร่วมรับฟัง พร้อมกล่าวภายหลังหารือว่า ตนจะรับข้อเสนอของคณาจารย์ไปพิจารณา เบื้องต้นคงไม่สามารถบอกว่าจะยกเลิกกรอบทีคิวเอฟทั้งหมดได้เพราะยังมีความจำเป็นต้องมีกรอบมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ แต่สิ่งที่จะยกเลิกได้อย่างแรก คือเรื่องวิธีการกรอกข้อมูลเอกสารการประเมินต่าง ๆ ที่ทางอาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องซ้ำซ้อนและเป็นภาระงาน ทั้งนี้ ตนมอบให้สกอ.ไปดูในรายละเอียดซึ่งจะต้องเป็นแนวทางที่ให้อิสระทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัย

รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยและรับทราบเหตุผลที่กลุ่มคณาจารย์ยื่นหนังสือคัดค้านครั้งนี้ จึงได้อธิบายว่าขณะนี้ สกอ.กำลังปรับบทบาทอยู่แล้ว และเห็นด้วยในบางประเด็นของการคัดค้านทีคิวเอฟ โดยเฉพาะในขั้นตอนการกรอกเอกสาร ซึ่งในส่วนนี้ คงต้องหาช่องทางในการยกเลิก และ จากนี้ สกอ.จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ กกอ.เพื่อดูว่าจะมีแนวทางในการปรับวิธีการในการดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับทุกฝ่าย

ด้าน รศ.ดร.กฤตยา กล่าวภายหลังการหารือว่า รมว.ศธ.เห็นด้วยในเชิงนโยบาย แต่ก็ชี้แจงว่าไม่สามารถกระทำได้ทันที และได้มอบหมายให้สกอ.ไปศึกษา ส่วนจะใช้เวลานานเท่าใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สกอ.

ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของคณาจารย์ทั่วประเทศต่อแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ดังนี้คือ 1.ขอให้ สกอ.ทบทวนแนวทางการผลักดันมหาวิทยาลัยมุ่งสู่ระดับสากล หรือ World Class Universities ด้วยวิธีการยึดหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว ควรหันมาเคารพต่อความหลากหลายทางวิชาการ 2.สกอ.ควรปรับบทบาทของตนเองหันมาสนับสนุนให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบประกันคุณภาพทางวิชาการอย่างแท้จริง และ3.ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 เนื่องจากซ้ำซ้อนกับระบบการประกันคุณภาพการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วของ สมศ.และการประกันคุณภาพภายใน (SAR) ที่ต้องจัดทำอยู่แล้วทุกปี และสกอ.ควรจัดให้มีการประมวลและรวบรวมปัญหาระบบการประกันคุณภาพการเรียนการสอนของอุดมศึกษาไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น