xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ชัดรัฐบาลต้องรักษาสัจจะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการฟันธงถึงเวลาต้องปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ชี้ รัฐบาลต้องรักษาสัจจะ หากไม่ทำเกิดแรงต้านแน่ แนะ 3 ฝ่ายทั้งรัฐบาล นายจ้าง-ลูกจ้าง ยอมถอยคนละก้าว ด้านปลัดแรงงานชงรัฐบาลให้ปี 55 เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ชูเป็นวาระแห่งชาติ หนุนแรงงานพัฒนาทักษะฝีมือได้รับค่าจ้าง 300 บาท ด้านโรงงานในนครปฐมเริ่มลดสวัสดิการแรงงานรองรับค่าจ้าง 300 บ.แล้ว

จากกรณีความคิดเห็นในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทต่อวัน ยังไม่ลงตัว ระหว่างฝ่ายแรงงาน นายจ้าง และรัฐบาลยังมีความเห็นแตกต่างกันโดย นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ได้ประกาศเดินหน้านโยบายจะนำร่องเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานเป็นวันไม่ต่ำกว่า 300 บาท โดยไม่รวมค่าโอทีใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และ ภูเก็ต ในเดือนมกราคมปี 2555 และจะนำอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้นไปบวกให้แก่จังหวัดอื่นๆ ก่อนเพื่อปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นก่อนดำเนินการให้มีอัตรารายได้ 300 บาท เท่ากัน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ขณะที่ฝ่ายนายจ้างเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบขั้นบันไดภายใน 4 ปี โดยให้เหตุผลแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว

ขณะเดียวกัน เครือข่ายองค์กรแรงงานทั่วประเทศ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท พร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือนมกราคมปี 2555 หากไม่ดำเนินการจะแจ้งให้แรงงานทุกจังหวัดแจ้งความว่ารัฐบาลทำผิด มาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 ในเรื่องทำผิดสัญญาหาเสียง รวมทั้งจะล่ารายชื่อแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 5 ล้านคน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองด้วยนั้น

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมมาตรการรองรับนโยบายเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาทให้แก่แรงงาน โดยจะเสนอรัฐบาลให้ปี 2555 เป็นปีแห่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเป็นวาระแห่งชาติ และขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะการที่ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาทนั้น ก็ควรจะมีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้นายจ้างรู้สึกคุ้มค่ากับค่าจ้างที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เนื่องจากกระทรวงแรงงานไม่สามารถทำงานได้ตามลำพัง

ปลัด รง.กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ประสานของบประมาณจากสำนักงบประมาณเป็นจำนวน 3,000 ล้านบาท จะนำมาใช้พัฒนาสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 แห่ง และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 65 แห่ง รวมทั้งสิ้น 77 แห่ง โดยพัฒนาให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานเป็นศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านและปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ เช่น ภาค 1 จ.สมุทรปราการในสาขาช่างยานยนตร์ ภาค 4 ที่จ.ราชบุรีเป็นเลิศด้าน อิเล็กทรอนิกส์ และภาค 12 ที่ จ.สงขลา เป็นเลิศด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เร็วๆ นี้ ได้มีการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เสนอมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง 300 บาท โดยเสนอให้พัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าน้ำ-ค่าไฟลง 20% ส่วนข้อเสนอของฝ่ายนายจ้างที่เสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี โดยนำเงินที่จะลดหย่อนภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการจาก 30% เหลือ 23% โดยหักไว้ 5% คิดเป็นวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท มาตั้งเป็นกองทุนก็เป็นข้อเสนอที่ดี ซึ่งจะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยได้นัดหารือกับกระทรวงการคลังในสัปดาห์หน้า

แม้ขณะนี้การเรียกร้องปรับค่าจ้างจะออกไปนอกโต๊ะเจรจา แต่เชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องกลับไปที่โต๊ะเจรจา ซึ่งต้องทำผ่านคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง และผมไม่กังวล หากจะมีการนำม๊อบแรงงานมาประท้วงเพื่อเรียกร้องปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ เพราะนโยบายรัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีเจตนาที่ดี อีกทั้งค่าจ้างก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ และการจะปรับค่าจ้างขึ้นเป็น 300 บาทมีโอกาสเป็นไปได้ งานไหนที่ทำได้ก่อนก็ทำทันที เช่น พัฒนาฝีมือแรงงาน แต่งานอื่นๆ เช่นการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดหย่อนภาษีก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลัง” นพ.สมเกียรติ กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในเดือน ม.ค.ปีหน้า จะเริ่มนำร่องใน 7 จังหวัดได้ก่อน และจะนำอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้น 40% ไปบวกให้จังหวัดอื่นๆเพื่อปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าการนำร่องปรับขึ้นค่าจ้าง 7 จังหวัดจะไม่กระทบจังหวัดอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงเพราะได้รับการปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการให้มีค่าจ้าง 300 บาท เท่ากันทุกจังหวัดภายใน 1 ปี

ผศ.ดร.วิชัย โถสุวรรณจินดา อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะนักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า เห็นว่า 3 ฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างควรถอยคนละก้าวเพราะหากปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันพร้อมกันทั่วประเทศ จะเกิดผลกระทบทำให้ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน ผลิตสินค้าเพิ่มไม่ได้และสินค้าส่งออกจะลดลงเพราะต้นทุนสูงขึ้น อีกทั้งทำให้มีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้งานแทนคน และมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น

“ผมคิดว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ควรทำแบบขั้นบันไดทยอยปรับเป็นช่วงๆเพราะรัฐบาลไม่มีสิทธิไปบังคับนายจ้าง เพราะคนที่จ่ายค่าจ้าง คือ นายจ้างไม่ใช่รัฐบาล อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลปรับค่าจ้างได้ครบทุกจังหวัดได้ในเวลาไม่ถึง 2 ปีก็เป็นสิ่งที่ดีโดยรัฐบาลต้องสนับสนุนการอบรมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานควบคู่กันไปเพื่อให้แรงงานผลิตสินค้ามีคุณภาพและผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้น ทำให้นายจ้างขายสินค้าได้มากขึ้นและมีเงินมาจ่ายค่าจ้างที่ปรับเพิ่ม” ผศ.ดร.วิชัย กล่าว

ผศ.ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานนั้นรัฐบาลควรทำเหมือนการประกันราคาข้าวโดยให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นไปตามทักษะฝีมือที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งหางบประมาณมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างให้แก่นายจ้าง ทั้งนี้ ตนเชื่อว่างบประมาณที่รัฐบาลจะมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างให้แก่นายจ้างคงหนีไม่พ้นนำมาจากเงินภาษีของประชาชนเพราะการทำงานของรัฐบาลทุกอย่างใช้เงินภาษีของประชาชน จึงอยากให้การชดเชยดังกล่าวทำในระยะเวลาชั่วคราว ไม่ใช่ตลอดไป

การช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยใช้มาตรการลดภาษีนิติบุคคลอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเพราะธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีกำไรมาก แต่ธุรกิจรายย่อยอย่างเอสเอ็มอีจะไม่ได้รับประโยชน์เพราะไม่ได้จ่ายภาษีและไม่มีกำไร ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เช่น การตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี การอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยขยายตลาดสินค้า” ผศ.ดร.วิชัย กล่าว

ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากมองในภาพรวมเชื่อว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศสามารถทำได้ เนื่องจากต้นทุนในการขึ้นค่าแรงโดยรวมเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ซึ่งนายจ้างสามารถพอรับได้ ยกเว้นธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นที่อาจได้รับผลกระทบมากและรัฐควรหามาตรการเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ อาจทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม ขาดแรงจูงใจ ในการไปตั้งโรงงานอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการสนับสนุน เช่น พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดหย่อนภาษี หรือ ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพื่อจูงใจ

“จากการสำรวจข้อเท็จจริงจะพบว่า ปัจจุบันลูกจ้างที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และต้องใช้วิธีการทำล่วงเวลา หรือโอที จึงจะอยู่รอด ที่สำคัญการมีรายได้น้อยเกินไป ยังเป็นสาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาครอบครัวแตกแยก ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาครอบครัวและสังคมได้ด้วย ส่วนจะใช้วิธีการขึ้นทันทีในช่วงต้นปี หรือทยอยปรับขึ้น นั้นอาจต้องพบกันครึ่งทางซึ่งรัฐบาลจะต้องควบคุมให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ผศ.พยน สุรินจำลอง รองคณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า เชื่อว่าสาเหตุที่รัฐบาลเลือกนำร่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดก่อนอาจจะเป็นเพราะความพร้อมของพื้นที่และผู้ประกอบการ ซึ่งนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทนั้น รัฐบาลต้องรักษาสัจจะ และตนเชื่อว่า รัฐบาลต้องทำแน่นอนแต่คงต้องใช้เวลา เพราะหากไม่ทำจะเกิดแรงต้านแน่นอน แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ เนื่องจากมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง

“ประชาชนไม่ว่าจะพื้นที่ใดก็มีรายจ่ายที่เท่ากัน เพราะร้านสะดวกซื้อ หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าต่างๆก็ได้กระจายลงไปในต่างจังหวัดแล้ว หากประชาชนมีกำลังซื้อน้อย ก็จะทำให้การใช้จ่ายไม่คล่องตัวและไม่สามารถกระตุ้นระบบเศรษฐกิจได้ ถ้ามองในแง่ผู้บริโภคควรที่จะมีการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน ส่วนในแง่ผู้ผลิตอาจจะมีผลกระทบอยู่บ้างในแง่ของผลกำไร แต่อยากให้นักธุรกิจควรยอมเฉียนกำไรของตัวเอง เพื่อให้คนในประเทศมีกำลังซื้อให้ระบบเศรษฐกิจเดินไปได้ ขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบขานรับนโยบายการปรับค่าจ้าง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของไทยขับเคลื่อนไปได้ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลควรหาแหล่งเงินทุน รวมถึงการให้คำแนะในการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และการหาตลาดในต่างประเทศ” ผศ.พยน กล่าว

ผศ.พยน กล่าวต่อไปว่า คิดว่านักลงทุนจะไม่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นตามที่หลายฝ่ายกังวลในเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรง เพราะต้นทุนการผลิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าแรงเพียงอย่างเดียว อีกทั้งมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นในแถบอาเซียน ทั้งกฎหมายการลงทุน สภาพแวดล้อม การคมนาคม และประสิทธิภาพของผู้ใช้แรงงาน

ด้าน น.ส.ดาวเรือง ชานก นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้รับข้อมูลจากพนักงานบริษัทผลิตตุ๊กตาปูนปั้นแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ว่า นายจ้างได้เรียกประชุมพนักงานรายวันทั้งหมด เพื่อชี้แจ้งเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ บริษัทแจ้งว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างให้เป็นวันละ 300 บาท ภายในปี 2554 พร้อมมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.บริษัทยกเลิกเบี้ยขยันทั้งหมดที่พนักงานเคยได้รับ 2.บริษัทยกเลิกค่าครองชีพที่พนักงานเคยได้รับในช่วงเวลา 15 วันซึ่งเป็นเงิน 100 บาท 3.ตัดเงินค่าข้าวที่พนักงานเคยได้รับวันละ 8 บาท เหลือวันละ 4 บาท โดยการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไขนี้อยู่ระหว่างการหารือของฝ่ายลูกจ้างว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด เนื่องจากโรงงานดังกล่าวไม่มีสหภาพแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น