xs
xsm
sm
md
lg

เผยโซเชียล เน็ตเวิร์ก สร้างความร้าวฉาน! ในครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ระบุ ความร้าวฉานในครอบครัวยุคปัจจุบัน เกิดจากสังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก ระวังจะติดเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ เตือนคนไทยสนใจ ใส่ใจบุคคลใกล้ตัวแทนคนไกลตัว
               

ดร.จิตรา ดุษฏีเมธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนในสังคมทั่วโลกตลอดถึงสังคมไทยเข้าสู่สังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก (Social Network) มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสังคมในโซเชียล เน็ตเวิร์ก มีทั้งด้านดีและไม่ดี มีทั้งบวกและลบเสมือนดาบ 2 คม บางคนอยู่ไกลกันการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก จึงเสมือนใกล้กัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่ในตอนนี้มีเหตุการณ์ที่สร้างความแตกแยกและร้าวฉานเกิดขึ้นในสังคมครอบครัวไทย ก็คือ เราจะไม่มองคนที่อยู่ใกล้ชิด ว่า มีคุณค่า มองไม่เห็นค่า ทอดทิ้งเขา ขณะเดียวกัน ก็ไปให้คุณค่ากับคนไกล บางครอบครัวอยู่กันในบ้านไม่คุยกัน แต่ใช้เวลากับการทักทายเพื่อนใหม่ หรือหาเพื่อนทางโซเชียล เน็ตเวิร์ก แทน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ นั่งโพสต์ข้อความตอบโต้กันได้หลายชั่วโมง ขณะที่คนในบ้าน หรือคนที่อยู่ใกล้ชิดเราพูดจากันเพียงไม่กี่นาทีก็ทะเลาะกัน เถียงกัน  ไม่เข้าใจกัน ผู้คนสมัยนี้เวลาน้อยใจ เสียใจก็ไม่ยอมพูดกันตรงๆ จะระบายอารมณ์โดยการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหรือ ทวิตเตอร์ส่วนตัว เป็นการใช้ภาษาแบบลอยๆ ไม่ได้เอ่ยถึงใคร  คนที่เข้ามาอ่านอาจจะเป็นคู่กรณีกันอ่านแล้วก็คิดไปเอง ขณะที่คนเขียนก็เขียนในอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง การสื่อสารจึงเป็นแบบต่างคนต่างเขียนต่างคนต่างคิดกันไปเอง คิดเองตอบเอง ที่เราบอกว่าเวลามีปัญหาอะไรให้พูดจาแบบเปิดใจกัน ก็ไม่ได้เปิดใจอย่างแท้จริง นี่คือ ที่มาของปัญหาที่เราไม่พูดจากัน แต่ใช้วิธีโพสต์ข้อความระบายอารมณ์ความรู้สึกบนสังคม โซเชียล เน็ตเวิร์ก แทน ต้องเข้าใจว่าสังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก เป็นสังคมที่เปิดกว้าง ดังนั้น ถ้าเราไม่คุยกันระหว่างคู่กรณีก็จะมีมือที่สาม หรือคนอื่นเข้ามาแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้ปัญหาต่างๆ บานปลายได้ คู่สามีภรรยาบางคู่ไม่ไว้วางใจกันและกันต้องเข้ามาแอบอ่านข้อความในเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ ของกันและกัน อ่านแล้วก็คิดมาก เพราะคู่ของตัวเองกำลังคบหาสมาคมกับเพื่อนใหม่ที่เป็นเพื่อนต่างเพศ หรืออาจจะเป็นเพื่อนเก่า แฟนเก่า อ่านข้อความในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ก็ไม่ไว้วางใจ หลายคู่ทะเลาะกันจนถึงขั้นแยกกันอยู่หรือหย่าร้าง
               

“เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ ของแต่ละคนหากเป็นคนใกล้ตัวควรจะมีเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์เพื่อเชื่อมโยง หรือตอกย้ำความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นจะเป็นการดีมาก แต่ไมใช่มีเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์เพื่อใช้ในการหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ โกรธกัน น้อยใจ ก็ไม่พูดแต่นำเรื่องราวต่างๆ ไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์แทน ยิ่งทำให้เกิดความห่างไกลกัน ในสังคมต่างประเทศมีงานวิจัยระบุว่าสังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่างเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ ผู้ใช้ไม่ว่าหญิงหรือชายมีโอกาสจะกลับไปติดต่อกับแฟนเก่า  ซึ่งบางคนก็แค่พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบ บางคนก็ติดต่อกันลับๆ  เกิดปัญหาบานปลาย และท้ายที่สุดคู่สามีภรรยาก็หย่าร้างกันถึง 30  % เหตุการณ์เช่นนี้ก็กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย หากเรายังไม่สนใจและไม่ใส่ใจบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเราและสนใจแต่สังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก แทน”
               

ดร.จิตรา กล่าวอีกว่า ฝากไว้ว่าให้ทุกครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยา หรือพ่อแม่ลูก ต้องสร้างความสัมพันธ์กันแบบสดๆ พูดคุยกัน และอยู่กับปัจจุบัน สร้างอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นจริงขึ้นมา สนใจบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเราให้มากกว่าบุคคลที่อยู่ไกลตัว ซึ่งอาจจะไม่มีความสำคัญกับเราเลยก็ได้  มีคนจำนวนไม่น้อยมีความสุขและพูดคุยกับเพื่อนใหม่ แฟนเก่าในสังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก เราสร้างขึ้นมาแบบฝันๆ จริงบ้าง ฝันบ้าง ทำให้ตัวเองดูดีบ้าง การสร้างความรู้สึกไม่ได้สร้างขึ้นจากความเป็นจริง เราสร้างความรู้สึกจากความคิด แต่ไม่ได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกจากของแท้ที่เรามีอยู่ในตอนนั้น หรือรู้สึกอยู่ในขณะนั้น แม้เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ จะทำหน้าที่เสมือนไดอารี่ส่วนตัว แต่มันก็เป็นไดอารี่สาธารณะ บุคคลในเครือข่ายสามารถเข้ามาดูและเห็นเราพูดคุยกับใครต่อใครได้ ตลอดเวลา การพูดคุย การใช้คำพูดจึงต้องระมัดระวังและไม่ควรจะให้เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตจนไม่เล่นหรือไม่เข้าไปทักทายเพื่อนๆ แล้วเกิดความหงุดหงิด หรือไม่มีความสุข เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังมีอาการติดสังคมโซเชียล เน็ตเวิร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น