xs
xsm
sm
md
lg

มาคิดสร้างประชาธิปไตยภูมิปัญญาไทยกันดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

ประชาธิปไตยแบบตะวันตก (ปชต. ตต.) ถือกำเนิดและเติบโตขึ้นมาในบริบทของลักษณะนิสัยแบบอิงตน ( individualism) ของชาวตะวันตก ทำให้นักการเมืองของเขาจึงต่างคนต่างโหวต (ในสภา) ทั้งนี้โดยมีหลักการใหญ่ร่วมกันตามนโยบายพรรคที่เขาสังกัด ส่วนของไทยเราไม่มีนิสัยอิงตนแบบเขา แต่มีนิสัยอิงผู้นำ ดังนั้นนักการเมืองเราจะโหวตตามที่ผู้นำสั่ง

การโหวตของนักการเมืองไทยจึงไม่ค่อยแตกคอก แต่การโหวตของนักการเมืองฝรั่งนั้น เช่น ที่สหรัฐอเมริกา นักการเมืองโดยเฉลี่ยจะโหวตให้ญัตติของพรรคตรงข้ามถึงประมาณ 25% ดังที่นายจอห์น แมคเคน (ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑) ถูกกล่าวหาจากกลุ่มตรงข้าม (นายโอบามา) ว่าเป็นพวกที่ภักดีต่อพรรคของตัวเองอย่างรุนแรงเพราะประวัติการเมืองที่ยาวนานกว่า 30 ปีของท่านมีสถิติว่าโหวตให้พรรคตรงข้าม “เพียง” 10% เท่านั้นเอง

ส่วนของไทยเรา 0% กันทุกคนไม่ใช่หรือ แต่ก็ไม่เห็นมีใครยกเอามาเป็นประเด็นเลย

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะเท่ากับว่ารัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่ “คานอำนาจ” กับฝ่ายบริหารดังเจตนารมณ์ของปชต. ตต. เลยแม้แต่น้อย แต่กลับทำหน้าที่ “เสริมอำนาจ” ให้กับฝ่ายบริหารเสียอีก ด้วยการโหวตด้วยเสียงข้างมากให้พรรครัฐบาลอยู่ร่ำไปไม่ว่าสิ่งที่รัฐบาลเสนอจะผิดหรือถูกก็ตาม

มูลเหตุแห่งความผิดเพี้ยนนี้น่าจะเป็นเพราะว่าคนไทยเราไม่มีนิสัยอิงตนแบบฝรั่งนั่นเอง นิสัยอิงตนนี้เป็นนิสัยที่ไม่ชอบรวมกลุ่มสุมหัวตั้งก๊วนแก๊งต่างคนต่างคิด ต่างอยู่ และต่างโหวต ซึ่งต่างก็เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

ถ้า ส.ส.คนใดโหวตให้พรรคตรงข้ามเขาก็เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่มาตำหนิหรือไล่ตะเพิดเช็กบิลกันภายหลังแบบเมืองไทย (ซึ่งนานทีปีครั้งก็มีเหมือนกันที่โหวตนอกแถว แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์หรือเรื่องส่วนตัวกัน ไม่ได้เกี่ยวกับอุดมคติทางการเมืองแต่อย่างใด)

จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ “ระบอบทักษิณ” จะกลืนกินประเทศไทยได้อย่างง่ายดายภายในเวลาเพียง 2 ปีที่ผู้นำระบอบดังกล่าวเข้าดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้เพราะผู้นำระบอบมีทั้งอำนาจเงินและอำนาจบริหารให้ ส.ส.ทั้งหลาย “ อิง” ได้อย่างเหลือเฟือแบบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั่นเอง

ส่วนนายโอบามานั้นเมื่อแรกเข้าเป็นประธานาธิบดี สรอ. มีกระแสนิยมสูงมากและสภาล่างและสภาสูงก็เป็นฝ่ายตนทั้งสองสภา แต่ญัตติสำคัญแรกที่เขาเสนอต่อสภา (การใช้เงินรัฐบาลอุ้มธุรกิจรถยนต์) ต้องพ่ายแพ้ในสภาอย่างหมดรูปเพราะสมาชิกพรรคของตนเองออกเสียงค้านเป็นส่วนมาก (แต่ ส.ส. พรรคตรงข้ามกลับโหวตสนับสนุนเป็นส่วนมาก) ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในระบบ ปชต.แบบไทยเราอย่างแน่นอน

การซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้งนั้นแท้จริงแล้วก็เป็นผลพวงจากวัฒนธรรมอิงอำนาจของคนไทยนั่นเอง เพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. (ซึ่งเป็นขั้วอำนาจและหัวคะแนนระดับท้องถิ่น) ก็ต้องอิงอำนาจของนักการเมืองในระดับสูงขึ้นเพื่อความอยู่รอดและความเจริญรุ่งเรืองของตน ดังนั้นพรรคการเมืองที่ยึดครองขั้วอำนาจท้องถิ่นได้มากที่สุดจึงมักได้ขึ้นไปเสวยอำนาจสูงสุดของประเทศหรือผูกขาดอำนาจไปเลย นำมาซึ่งการถอนทุนทางการเมืองและความด้อยพัฒนาของประเทศดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

สรุปว่าเราไม่มีทางสร้างประเทศไทยให้เจริญได้ด้วยการลอกเอาระบบปชต.ตต.มาใช้ทั้งดุ้น เราควรลอกเขาเฉพาะในหลักการ ส่วนวิธีการนั้นเราต้องสร้างของเราเองเพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงภายใต้บริบทของนิสัยแบบอิงอำนาจของคนไทยเรา

ในบทความก่อนๆ ผมได้ช่วยคิดหาวิธีการใหม่เสนอไว้บ้างแล้ว ท่านที่สนใจลองค้นหาอ่านดูนะครับ เช่น ส.ว.มาจากการสรรหาเท่านั้น เอาคนที่เก่งดี สังคมยอมรับ (วิธีการนี้เป็น ปชต.ทางอ้อมในตัวเพราะสังคมยอมรับ) นายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคที่มีเสียงข้างมาก เสียงน้อยเพียง 5% ก็เป็นนายกฯ ได้ โดยให้ ส.ว.เป็นผู้เลือกนายกฯ อีกทั้งคณะรมต.ทุกคนที่ได้รับการเสนอชื่อ จะต้องได้รับการโหวตเห็นชอบจาก ส.ว.ด้วย และในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ให้ ส.ส.เป็นผู้อภิปราย แต่ ส.ว.เท่านั้นที่มีสิทธิในการโหวต ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยมีเสถียรภาพ

ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะตัดการโหวตตามที่อำนาจสั่งการลงมาได้มาก ปชต. ของเราจะเที่ยงธรรมมากขึ้น อีกทั้งจะได้คนเก่งกว่า ดีกว่า เข้าไปทำงาน แม้อาจไม่ได้คนเก่งดีที่สุดก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น