xs
xsm
sm
md
lg

ครูเฮ! “วรวัจน์” เตรียมตั้งโครงการปลดหนี้ครู 5 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครูมีหนี้มาก ได้เฮ “วรวัจน์” ผุดโครงการปลดหนี้ครู วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ใช้งบปี 55 ดำเนินการ ส่วนรายละเอียดยังไม่ชัด แต่ย้ำไม่ใช่การให้เงินครูกู้ไปโปะหนี้ เตรียมเสนอขอดึงงบ กรอ.จาก ก.คลัง มาดูแลเอง

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมเสนอของบประมาณปี 2555 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการปลดหนี้ครู ซึ่งตามรายงานล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สำรวจพบว่า ยอดหนี้สินครูทั้งหมดสูงถึง 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีที่แล้วซึ่งตัวเลขหนี้สินครูแค่ 3 แสนล้านบาท เฉลี่ยแล้วครูมีหนี้สินประมาณคนละ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้สินครูส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่กู้มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากที่สุด สำหรับรายละเอียดของโครงการปลดหนี้ครูนั้น ยังต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการในวิธีใด แต่อาจจะดำเนินการในรูปของกองทุน อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“ที่สำคัญ โครงการปลดหนี้ครูครั้งนี้ จะไม่ใช่การนำงบประมาณมาปล่อยกู้ให้ครูนำไปล้างหนี้เก่า เพราะครูแต่ละคนเป็นหนี้ถึงกว่า 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ครูกู้ส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยที่ประมาณร้อยละ 7 ถ้าสามารถหาทางให้ครูจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ครูก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปีเป็นจำนวนมาก คำนวณคร่าวๆ ครูที่กู้เงิน 2 ล้านบาทจะมีเงินเหลือปีละเป็นแสนบาทถ้าไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และกระทรวงจะเป็นผู้ดูแลโครงการปลดหนี้ครูเองโดยตรง ซึ่งจะดีกว่าให้ สกสค.ดำเนินการเหมือนที่ผ่านมา เพราะเห็นว่า โครงการแก้ปัญหาหนี้สินของ สกสค. ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หนี้สินครูเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งไม่ได้ปล่อยกู้ตามระบบของธนาคารพาณิชย์ แต่สหกรณ์อมมทรัพย์ครูนั้น เหมือนบริษัทที่ครูตั้งขึ้นมาปล่อยกู้กันเอง เมื่อครูเข้าโครงการปลดหนี้ครูแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไปกู้เงินสหกรณ์ฯอีก ที่สุดก็ต้องกลับมาเข้าโครงการปลดหนี้ครูอีกรอบ ไม่มีที่สิ้นสุด” รมว.ศธ.กล่าวและว่า นอกจากช่วยครูปลดหนี้แล้ว ศธ.จะลงไปดูแลขบวนการปล่อยกู้ให้ครูในรูปแบบต่างๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ครูไปเป็นหนี้ซ้ำอีก ยกเว้นรายที่มีความจำเป็นจริงๆ จึงสมควรผ่อนผันให้สร้างนี้เพิ่มได้

นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า ศธ.จะเสนอให้โยกงบประมาณกองทุน กยศ. ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็น กรอ.มาตั้งที่กระทรวงศึกษาธิการแทนตั้งที่กระทรวงการคลัง เหตุผล หลักการของ กองทุน กรอ.นั้น ต้องการปล่อยกู้ในสาขาที่จบแล้วมีงานทำ เมื่อเจ้าตัวมีรายได้ถึง 16,000 บาทต่อเดือนตามเกณฑ์ จึงจะได้เริ่มใช้หนี้คืน กรอ.เพราะฉะนั้น จะต้องมีการดูแลเรื่องการปล่อยกู้อย่างรอบครอบ ต่างจากการปล่อยกู้ กยศ.ซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้ใช้คืนทันทีเมื่อขึ้นปีที่ 3 หลังจากจบการศึกษา จึงไม่ต้องกลั่นกรองสาขาปล่อยกู้มากเท่า กรอ.ดังนั้น ให้ ศธ.ดูแลเองจะเหมาะสมกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น