“วรวัจน์” งง!! ข่าวครูล่าชื่อถอดถอนอ้างเหตุสั่งระงับกู้เงิน เจ้าตัวยันไม่ได้ห้ามครูกู้ และไม่มีสิทธิ์ทำทั้งยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดการทำงาน ระบุจะเปิดให้ครูที่ต้องการความช่วยเหลือลงทะเบียน ด้าน “บำเหน็จ” ออกตัวแรงยันพันเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการล่ารายชื่อ โบ้ยเป็นเพราะข่าวที่ออกมาทำเข้าใจผิด ย้ำ รมว.ศธ.เจตนาดีอยากแก้ปัญหาให้ครู
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่มครูจะล่าชื่อเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพราะไปสั่งระงับไม่ให้ครูกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู แต่เนื่องจากตนได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ถึงตัวเลขหนี้ครู ซึ่งเฉพาะข้อมูลหนี้ที่เกิดจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนั้นสูงถึงล้านล้านบาท ในขณะที่ครูมีจำนวนกว่า 7 แสนคน ตนจึงอยากให้การช่วยเหลือหาทางออกเพื่อปลดหนี้ให้ ซึ่งขอยืนยันว่าไม่ได้มีการห้ามครูกู้เงินแต่อย่างใดเพราะองค์กรที่ปล่อยกู้นั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคลตนคงไม่มีสิทธิ์ไปห้ามครู อีกทั้งถ้าจะดำเนินการอาจจะต้องเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อแยกแยะว่าครูคนใดต้องการให้ช่วยเหลือบ้างแต่ตอนนี้ตนยังไม่ได้ใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว
“ทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิดและคงมีคนไปปล่อยข่าว ซึ่งความจริงตอนนี้ผมรอให้ สกสค.ชี้แจงตัวเลขหนี้ที่แท้จริงมาให้ผมอีกครั้ง แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวว่าครูจะประท้วงก็เลยรู้สึกงงๆ ทั้งที่เจตนาผมจะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้สินให้กับครู แต่นี่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ และผมไม่ได้มีอำนาจไปห้ามไม่ให้ใครทำอะไรได้ แต่ถ้าผมจะไปช่วยก็ต้องถามว่าใครเต็มใจที่จะให้เราช่วย เราจะทำให้อย่างเต็มความสามารถ ใครที่มีศักยภาพก็แก้ปัญหาเองได้ ส่วนหนี้ที่มีปัญหาหนักหนาก็ต้องมีระบบการจัดการ อยู่ที่ครูทั้งหลายจะให้ผมเข้าไปช่วยหรือไม่ ถ้ามีก็ให้มาลงทะเบียน” รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สกสค.เปิดเผยว่า ยืนยันว่าครูจะไม่มีการล่ารายชื่อหรือประท้วงนายวรวัจน์พันเปอร์เซ็นต์ ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้เข้าใจผิด และเป็นเจตนาดีของ รมว.ศธ.ที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครูให้ แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด รวมทั้งไม่ได้ห้ามไม่ให้กู้เพราะปัญหาดังกล่าว มีการรวมกลุ่มเป็นระบบรูปแบบของโครงการพัฒนาชีวิตครูและแก้ปัญหาหนี้ครู มีตัวเลขครูที่เป็นหนี้เดือดร้อนสาหัสไม่เกิน 28,000 คน จังหวัดๆ หนึ่งมีคนมาให้คลินิกแก้ปัญหานี้หนี้ครูที่ตั้งสมัยนายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ไม่เกิน 20 คน ซึ่งเดือดร้อนถึงขั้นถูกฟ้องล้มละลาย
“ผมกล้ายืนยันว่าวันนี้ครูไม่ได้มีปัญหาหนี้สินล้นพ้น และครูมีวินัยทางการเงิน เมื่อเราเปิดคลินิกให้ครูมาขอรับความช่วยเหลือ เราก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาคัดกรองให้ว่าใครสมควรจะได้รับความช่วยเหลือ เพราะในโครงการช่วยเหลือชีวิตครู จะมีสถาบันการเงินมาปรับโครงสร้างหนี้ให้ในดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เราต้องดูว่าใครหนักหนาสาหัส แต่ก็มีบางคนอยากจะเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ แต่เราต้องกรองคน และติดอาวุธทางปัญญาให้ครูมีวินัยว่าใช้จ่ายอย่างไรไม่ให้เกินรายรับ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” รองเลขาธิการ สกสค.กล่าว