xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการ รปภ.ค้านขึ้นค่าแรง 300 บาท ชี้เพิ่มภาระกว่า 40%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการ รปภ.ค้านขึ้นนโยบายค่าจ้าง 300 บ.กระทบกิจการหนัก ค่าจ้างแรงงานเพิ่มกว่า 40% แนะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามมติไตรภาคี ไม่ใช้จากนโยบายหาเสียง

วันนี้ (8 ส.ค.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ สมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย (ประเทศไทย) สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ นโยบายปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ มีผลกระทบต่อธุรกิจงานรักษาความปลอดภัยอย่างไร โดยมีผู้ประกอบการบริษัทรักษาความปลอดภัยให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศในทันที เพราะจะส่งผลกระทบกับกิจการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างมาก

โดยนายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ นายกสมาคมสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คัดค้านที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะปรับขึ้นในทันที โดยมองว่า เป็นวาทะของนักการเมืองในการเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนเสียมากกว่า ยิ่งหากพูดว่าปรับขึ้นค่าแรงเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนมีรายได้รับกับค่าครองชีพที่ขึ้นสูงขึ้นทุกวันก็ยิ่งไม่ได้ผล เพราะตอนนี้ราคาสินค้าได้ขึ้นรอล่วงหน้าแล้ว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะทำให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานของกิจการรักษาความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 40% ซึ่งจะทำให้บริษัทห้างร้านที่เคยจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย กลับไปจ้างแรงงานในส่วนนี้เอง อีกทั้งแรงงานก็จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด เพราะไม่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของค่าแรงจากพื้นที่การทำงานอีกต่อไป ซึ่งนั่นจะทำให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลง และอาจทำให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัยประสบกับภาวะวิกฤติได้ รัฐบาลจึงควรปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นขั้นบันได เช่นบอกว่าปีนี้ปรับขึ้น 10% จากเดิม ปีหน้าปรับอีก 5% จนครบ 300 บาท ภายในกี่ปีก็ว่ากันไป ไม่ใช่ปรับขึ้นครั้งเดียวเป็น 300 บาท ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนปรับตัวไม่ทัน

นายวัลลภ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับภาคแรงงานหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัย ที่มีแต่คนพูดว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญ แต่ไม่เห็นมีความคืบหน้าว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เมื่อไหร่ จึงถึงเวลาแล้วที่จะนำเรื่องนี้มาคุยอย่างจริงจัง และอยากเสนอให้มีการปรับระดับของแรงงานภาคการรักษาความปลอดภัยขึ้นเป็นแรงงานฝีมือ ไม่ใช่แรงงานกรรมกร เพราะถือเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะสูง ซึ่งจะสามารถปรับฐานเงินเดือนให้สูงขึ้นได้โดยไม่มีผลกระทบต่อกิจการมากนัก

ขณะที่นายสมบัติ พิมพ์แสง อดีตนายกสมาคมสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นควรจะเป็นมติเห็นชอบร่วมกันของไตรภาคี อันประกอบด้วย รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง มากกว่าที่จะมาจากนโยบายหาเสียง โดยควรขึ้นแบบขั้นบันได แต่ยอมรับว่าหากรัฐบาลขึ้นค่าแรงเมื่อใด บริษัทในภาครักษาความปลอดภัย คงต้องมีการปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีกล้องซีซีทีวีมาช่วย เพื่อลดภาระในส่วนของค่าจ้างแรงงาน

ด้านนายวัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องดำเนินการปรับค่าจ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะขั้นบันได เพื่อให้บริษัทห้างร้านมีเวลาในการปรับตัว นอกจากนี้ จะเสนอขอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล เช่น ปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น