สธ. เร่งพัฒนางานบริการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด ล่าสุด พัฒนาได้แล้วกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2553 พบว่า ประชาชนนิยมใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น รายงานเบื้องต้นใน 36 จังหวัด มูลค่า 146 ล้านบาท จ.ชลบุรีนำอันดับหนึ่ง 26 ล้านบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านบาท
วันนี้ (5 ส.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานรวมพลังการแพทย์แผนไทยภาคกลางปี 2554 ภายใต้หัวข้อ “สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข” ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับ 16 จังหวัดภาคกลางร่วมจัด ปีนี้ จ.ชัยนาท รับเป็นศูนย์กลางประสานการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของเครือข่ายในระดับภูมิภาค โดยมีหมอพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 16 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมงานทั้งด้านวิชาการ นิทรรศการ จำนวนมาก
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้มีบริการงานแพทย์แผนไทย ผสมผสานควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบด้วยการตรวจรักษา จ่ายยาสมุนไพร และการนวด อบประคบสมุนไพร เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ ที่รักษาได้ด้วยการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลทุกระดับ ปัจจุบันมีจำนวน 10,516 แห่งทั่วประเทศ มีบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยประจำ ขณะนี้เปิดบริการแล้ว 4,379 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42 ของสถานบริการทั้งหมด ซึ่งจะเร่งรัดให้ครบทุกแห่ง
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกระดับใช้ยาสมุนไพร เพื่อรักษาผู้ป่วยทุกกลุ่มโรคทดแทนยาแผนปัจจุบัน ล่าสุดมียาแผนไทยที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 71 รายการ สามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิการรักษา จากข้อมูลการติดตามตรวจราชการในเขตต่างๆในปี 2553 พบมีการใช้ยาไทยในสถานบริการทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข 36 จังหวัด มีมูลค่าทั้งหมด 146 ล้านบาท จังหวัดที่ใช้สูงสุดคือ ชลบุรี 26 ล้านกว่าบาท รองลงมาสุรินทร์ 12 ล้านกว่าบาท ขอนแก่น 10 ล้านบาท
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้คัดเลือกโรงพยาบาลต้นแบบให้บริการผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่ รพ.เทิง จ.เชียงราย รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี และสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์ไทยฯที่ยศเส กทม. จะติดตามประเมินผลเป็นระยะ หากได้รับการตอบรับจากประชาชนก็จะเปิดดำเนินการคล้ายประเทศจีนคือเป็นโรงพยาบาลให้บริการแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะและพัฒนาเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรคต่อไป
สำหรับงานรวมพลังการแพทย์แผนไทย ภาคกลาง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2554 ในงานประกอบด้วยการประชุมวิชาการ การเสวนาสุขภาพวิถีไทย นิทรรศการสมุนไพร สาธิต บริการ ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ พื้นบ้าน อาทิ สืบสานตำรายาหลวงปู่ศุข เหยียบเหล็กไฟ จับเหล็กแดงรักษาอัมพฤกษ์อัมพาต จัดปรับกระดูกแบบมณีเวชและกดจุดหยุดปวด เป็นต้น