xs
xsm
sm
md
lg

“วชิระภูเก็ต” พัฒนาใช้ HBOT รักษาโรคหลังรักษาเด็กพิเศษสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รพ.วชิระภูเก็ต เพิ่มประสิทธิการใช้ Hyperbaric Oxygen Therapy รักษาโรค หลังประสบความสำเร็จใช้รักษาพัฒนาการเด็กออทิสติก จนดีขึ้น รวมทั้งนำผู้ป่วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นแผลเบาหวาน แผลจากการฉายรังสี เข้ารักษาพบอาการดีขึ้น เตรียมขยายผลรักษาในเด็กแรกเกิดขาดออกซิเจน และผู้ป่วยโรคหัวใจก่อนผ่าตัด

นายแพทย์ เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการบำบัดรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง หรือ Hyperbaric Oxygen Therapy หรือ HBOT โดยใช้เครื่อง Hyperbaric chamber หรือห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง ว่า สำหรับการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงนั้น เดิมใช้สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการดำน้ำหรือโรคน้ำหนีบเพียงอย่างเดียว และเมื่อปี 2551 ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ทำการศึกษาวิจัยและนำมาทดลองใช้รักษาเด็กพิเศษ หรือเด็กออทิสติกซึ่งเป็นการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
 
ซึ่งการดำเนินการประสบความสำเร็จเด็กที่เข้ารักษามีพัฒนาการที่ดีขึ้น จนถึงขณะนี้มีเด็กออทิสติกเข้ารับการรักษาแล้วประมาณ 50 คน ซึ่งทุกคนมีอาการดีขึ้นและขณะนี้มีบางส่วนที่เข้ารับการรักษาเกิน 40 ครั้ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลพัฒนาการของเด็กว่าเด็กที่รักษา 40 ครั้ง กับ 80 ครั้งมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง โดยขณะนี้โรงพยาบาลหลายๆ ที่มีเครื่องมือดังกล่าวนำมารักษาเด็กออทิสติสแล้ว

อย่างไรก็ตาม นอกจากนำเครื่อง Hyperbaric chamber มาใช้รักษาเด็กที่มีอาการออทิสติกแล้ว ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ยังได้ทดลองใช้รักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคคาร์บอนมอนออกไซด์เป็นพิษ โรคแผลหายยาก แผลเบาหวาน แผลหลอดเลือด แผลไฟไหม้ แผลจากการฉายรังสี แผลติดเชื้อเรื้อรัง โดยผู้ป่วยของโรงพยาบาลประมาณ 50 %ที่ส่งเข้ารับการรักษาด้วยเครื่อง Hyperbaric chamber และผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยที่มีแผลจากโรคเบาหวาน และแผลจากการฉายรังสี พบว่า ไม่ต้องถูกตัดอวัยวะ

นายแพทย์ เจษฎา กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาพบว่าในต่างประเทศมีการใช้เครื่อง Hyperbaric chamber รักษาโรคได้มากถึง 14 โรคแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการทดลองอีก 30 โรค สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตนั้นกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้กับเด็กแรกเกิดที่ขาดออกซิเจน รวมทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบก่อนที่จะเข้ารับการรักษา

“สำหรับการบำบัดรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง เป็นวิธีการบำบัดรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วย ออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะอยู่ในห้องปรับความกดบรรยากาศสูง ที่มีความกดดันภายในห้องปรับความกดบรรยากาศสูงกว่า 1 บรรยากาศ ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนปริมาณกว่าให้ออกซิเจนที่บรรยากาศปกติเกือบ 20 เท่า
 
โดยออกซิเจนที่เพิ่มขึ้นจะแทรกซึมไปยังเนื้อเยื้อและหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย เมื่อเพิ่มแรงดันบรรยากาศ ความเข้มข้นของออกซิเจนภายในร่างกายก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค เสริมสร้างเซลล์ใหม่ด้วยและเมื่อเร็วๆ นี้ งานเวชศาสตร์ใต้น้ำ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และ กองเวชศาสตร์ใต้นำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ ได้ร่วมกับจัดประชุมวิชาการและอบรม เชิงปฏิบัติการ เรื่องเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูง เพื่อพัฒนาศักยภาพการบำบัดรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงขึ้น
 
โดยมีตัวแทนแพทย์ที่จะปฏิบัติงานชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 300 คนเข้าร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งรักษาและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ รวมไปถึงเครือข่ายบุคลากร ทางการแพทย์ที่จะปฏิบัติงานแถบชายฝั่งทะเลที่มีแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ซึ่งต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจากการดำน้ำ หลักการดำน้ำอย่างปลอดภัยลอยภัย การรักษาพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และการส่งต่ออย่างถูกวิธีมายังสถานพยาบาลที่มี Hyperbaric chamber อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนลดความพิการ การสูญเสีย และนำมาใช้ในการศึกษาวิจัย ประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยโรคต่างๆ เพื่อพัฒนารูปแบบการบำบัดทางการแพทย์ และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้กับผู้ป่วยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น