กทม.จัดประชุมวิชาการหาแนวทางป้องกันวัณโรคในพื้นที่ สร้างเครือข่ายการรักษาร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน และศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัด กทม.ทั้ง 68 แห่ง ในทิศทางเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตั้งเป้าหลุดจาก 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงสุดทั่วโลกหลังถูกจัดอยู่อันดับ 18
วันนี้ (6 ก.ค.) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมวิชาการ “การดำเนินงานวัณโรคในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 สถานพยาบาลที่มีการรักษาวัณโรคทั้งโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐ เอกชน จำนวน 115 แห่งและศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย 68 แห่ง ร่วมเข้าประชุม ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกหน่วยงาน ในการดำเนินงานควบคุม ป้องกันวัณโรค ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ ประสบการณ์ในการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำมาพัฒนาการควบคุมวัณโรคในกรุงเทพมหานครให้บรรลุเป้าหมาย
รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับ 18 ใน 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก ส่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และแอฟริกา ทั้งนี้ วัณโรคเป็นภัยเงียบที่ย้อนกลับมาอีกครั้ง โดยปัจจุบันพบผู้ป่วยวัณโรค เชื้อวัณโรคชนิดเชื้อดื้อยาหลายขนาน (MDR) และเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาชนิดรุนแรง (XDR) เพิ่ม มากขึ้น ทั้งนี้กทม.เป็นพื้นที่หนึ่งที่มุ่งหวังให้อัตราการรักษาผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อให้หายตามเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ดังนั้น สถานพยาบาลที่มีการรักษาวัณโรคทุกแห่งในเขต กทม. จะต้องมีการดำเนินงานด้านวัณโรคในทิศทางเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการประสานงานเป็นเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน (Public Private Mixed:PPM) เพื่อให้ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการดูแลแบบครบวงจร ซึ่งจากความร่วมมือในครั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะประเมินผลสำเร็จในการควบคุมวัณโรค ทั้งรายงานข้อมูลการค้นหาและการรักษาผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ เพื่อนำเสนอต่อองค์การอนามัยโลกในปี 2555
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยว่า ผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ถ้ามีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในบ้านควรเอาใจใส่ดูแลให้กินยาครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พาบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนบี ซี จี หากมีอาการผิดปกติ น่าสงสัยเป็นวัณโรค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับบริการตรวจรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร.0-2860-8205 และ 0-2680-8751-6 ต่อ 505