สปส.มั่นใจแผนลงทุนต่างประเทศไม่สะดุดตามภาวะเศรษฐกิจอเมริกา และ ยุโรป พร้อมวางมาตรการสกัดขาดทุน เฟ้นบริษัทตัวแทน 1-2 แห่ง ที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุน สั่งทำแผนวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ-ลงทุน อย่างละเอียด
นาย ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีปัญหาสภาพเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกา ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบไปทั่วโลก สร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนที่เตรียมเข้าไปลงทุน ว่า ในส่วนของกองทุนประกันสังคมที่ได้มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนต่างประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป นั้น จากการที่ทาง สปส.ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ใช้เงินกองทุนประกันสังคม ไปลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนแต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ต้องชะลอแผนการลงทุนไว้ก่อน และค่อยรอโอกาสที่เหมาะสมที่จะนำเงินไปลงทุน
อย่าง ไรก็ตาม สปส.ได้คัดเลือกบริษัทที่จะเป็นตัวแทนของ สปส.ที่จะนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ไว้ 3 บริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเพื่อให้เหลือ 1-2 บริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจริงๆ โดยหากคัดเลือกบริษัทได้แล้ว ก็จะสั่งให้ไปวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรป, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมถึงพิจารณาธุรกิจที่น่าเข้าไปลงทุน โดย สปส.ได้วางกรอบการลงทุนไว้ 3 ด้าน คือ 1.การซื้อพันธบัตรรัฐบาล 2.หุ้น และ 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีการคำนวณรายได้จากการลงทุนในแต่ละประเภทจะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่
“การลงทุนในต่างประเทศจะต้องมองระยะยาว โดยรอดูจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม พิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่จะไปลงทุนว่าเป็นอย่างไร อย่างกรณีของอเมริกาที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ก็ยังมีธุรกิจที่น่าลงทุนอยู่ ไม่ใช่ไม่ดีไปทั้งหมดแล้วไม่เข้าไปลงทุนเลย ทั้งนี้ จะต้องวิเคราะห์ว่า ธุรกิจประเภทใดที่น่าลงทุน หรืออย่างประเทศในแถบยุโรป 20 ประเทศ ก็จะมีประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแค่ 3-4 ประเทศ ส่วนที่เหลือก็อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเมื่อได้บริษัทตัวแทนการลงทุนในต่างประเทศก็จะให้วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนให้ละเอียดมากขึ้น เช่น ทำไมต้องเข้าไปลงทุน และควรลงทุนในธุรกิจประเภทใด อีกทั้งเงินลงทุนควรจะเป็นเท่าไร และผลกำไรจะได้มากน้อยเท่าไร อย่างไร” นายปั้น กล่าว
เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ เมื่อได้บริษัทที่เป็นตัวแทนแล้ว ก็ต้องเสนอเข้าบอร์ดประกันสังคมเพื่อพิจารณาเห็นชอบบริษัทที่จะเป็นตัวแทน และกรอบวงเงินลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่เพียงรักษาการ เนื่องจากได้หมดวาระไปตั้งเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตามหลักการต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา แต่หากแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ล่าช้าก็อาจจะต้องเสนอบอร์ดชุดรักษาการเป็นผู้ พิจารณา