xs
xsm
sm
md
lg

สปส.ผ่อนผัน ร.ร.เอกชนจดแจ้งทะเบียนประกันสังคมให้แก่บุคลากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปส.ผ่อนผันให้ ร.ร.เอกชนจดแจ้งทะเบียนประกันสังคมให้แก่บุคลากร  หลังพ้นกรอบเวลาที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่กำหนดไว้   คิดค่าปรับ ร.ร.ละ 4 พันบาท ชี้หากจงใจหลีกเลี่ยงมีโทษตามกฎหมายประกันสังคม
 

นายพีรพัฒน์   พรศิริเลิศกิจ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.)  กระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2554 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง สปส.ได้เปิดให้โรงเรียนเอกชนมายื่นจดทะเบียนประกันสังคมมาตรา 33 ให้แก่ครู บุคลากรและลูกจ้างภายในเวลา 30 วันตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดคือภายในวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยแยกเป็น 1.โรงเรียนในระบบที่ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติต้องยื่น จดทะเบียนประกันสังคมให้แก่บุคลากรส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนหรือสนับ สนุนการสอนเช่น   แม่บ้าน  พนักงานขับรถ พนักงานทำความสะอาด คนสวน   2.โรงเรียนนานาชาติให้ยื่นจดทะเบียนเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 และส่งเงินสมทบมาก่อนวันที่ 12 มกราคม 2551 และไม่ใช่บุคลากรที่ทำหน้าที่สอนหรือสนับสนุนการสอน และ3.โรงเรียนนอกระบบ เช่น  โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพระยะสั้นให้ยื่นจดทะเบียนครู บุคลากรและลูกจ้างได้ทุกกลุ่ม

               

“ยอดสรุป ณ วันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา มีโรงเรียนเอกชนยื่นจดทะเบียนประกันสังคมให้แก่ครู บุคลากรและลูกจ้าง 901 แห่ง  จำนวนบุคลากร 5,487 คน แม้ตามกฎหมายโรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ ขณะนี้พ้นกำหนดที่ให้โรงเรียนเอกชนแจ้งจดทะเบียนประกันสังคมมาตรา 33 ให้แก่บุคลากรไปแล้ว แต่สปส.ผ่อนผันให้โรงเรียนเอกชนมาแจ้งจดทะเบียนได้ตลอด  โดยคิดค่าปรับโรงเรียนละ 4  พันบาท  อย่างไรก็ตาม อยากให้โรงเรียนเอกชนเร่งดำเนินการยื่นจดทะเบียนเพื่อช่วยรักษาสิทธิของบุคลากรและลูกจ้าง  และหากโรงเรียนเอกชนมีเจตนาหลบเลี่ยง  ก็จะเอาผิดตามกฎหมายประกันสังคมโดยมีโทษทางอาญาปรับ 2 หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ”  นายพีรพัฒน์กล่าว
                 

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า  จากข้อมูลของ สปส.เมื่อวันที่  31 ม.ค. 2551  มีครู บุคลากรและลูกจ้างโรงเรียนเอกชนอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 42,488 คน จากโรงเรียนเอกชน 3,262 แห่ง แต่หลังจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ซึ่ง เขียนยกเว้นให้ครู และบุคลากรของโรงเรียนเอกชนไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคมและ พ.ร.บ.เงินทด แทนมีผลบังคับใช้ ก็ได้ทำให้ครู บุคลากรและลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนต้องเปลี่ยนมาเข้าประกันสังคมมาตรา 39 จำนวน 27,156 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้  ก็ทำให้บุคลากรและลูกจ้างของโรงเรียนเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งรวมทั้งผู้ที่ย้ายไปอยู่ในมาตรา 39 จำนวน 27,156 คนได้กลับมาอยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 โดยโรงเรียนเอกชนต้องยื่นจดทะเบียน
               

“สปส.จะทำหนังสือสอบถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนประกันสังคมของบุคลากร โรงเรียนเอกชน ซึ่งประกันสังคมในจังหวัดต่างๆสอบถามมายังสปส.ใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.บุคลากรของโรงเรียนนานาชาติซึ่งเคยเป็นผู้ประกันตนและส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมก่อนวันที่ 12 ม.ค. 2551 ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายเงินทดแทนหรือไม่ 2.ขอให้ขยายความคำว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารงานทั่วไปตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2554 ครอบคลุมตำแหน่งใดบ้าง  3.บุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนยังมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดิมทุกคนหรือไม่ หลัง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้  หรือ มีการกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขเพิ่มเติมไว้อีกหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ จะส่งหนังสือนี้ถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สังกัด ศธ.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้” นายพีรพัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น