ปลัดกระทรวงแรงงานจี้ทูตเร่งขยายตลาดแรงงานต่างประเทศ เตรียมบุกตะวันออกกลาง ดันแรงงานช่างฝีมือเข้าการ์ตาเจ้าภาพโอลิมปิก สร้างศูนย์กีฬา
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการมอบนโยบายอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานในต่างประเทศ และผู้ช่วยทูต จำนวน 13 ประเทศ ที่กระทรวงแรงงาน ว่า ได้มอบนโยบายและกำชับให้ทำหน้าที่หาตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านแรงงานทักษะฝีมือเพิ่มมากขึ้น รวมถึงรักษาฐานตลาดแรงงานไร้ฝีมือ และดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ให้ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานของประเทศนั้น และไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และบริษัทจัดหางาน
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานในต่างประเทศประมาณ 5 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้หมุนเวียนไปทำงานปีละ 1.5 แสนคน สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้โอนเงินผ่านระบบธนาคารต่างๆ ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือกว่า 4 หมื่นล้าน เป็นการส่งผ่านคนกลาง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม ซึ่งคิดในอัตราที่สูง เมื่อเทียบกับการส่งผ่านธนาคาร ขณะที่รายได้ที่แรงงานได้รับก็จะลดลง ซึ่งจะหาแนวทางแก้ปัญหานี้ต่อไป
“ขณะนี้แรงงานทักษะฝีมือของไทยที่ต่างประเทศยอมรับ เช่น ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง กุ๊ก ซึ่งตลาดที่น่าสนใจคือตะวันออกกลาง อย่างประเทศการ์ตาที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกครั้งหน้า มีความต้องการแรงงานในการก่อสร้างศูนย์กีฬาและบ้านพักนักกีฬาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ช่างก่อสร้างเป็นแรงงานที่ต่างชาติจ้างในลักษณะแรงงานไร้ทักษะฝีมือ ซึ่งจะต้องยกระดับขึ้นมาเป็นแรงงานทักษะฝีมือต่อไป” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ โดยเปิดเป็นสายด่วน 800-662-662-66 ซึ่งแรงงานไทยใน 20 ประเทศที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนนี้ได้โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนความคืบหน้าโครงการปล่อยกู้แรงงานที่จะไปทำงานต่างประเทศ ขณะนี้เตรียมที่จะหารือกับ รมว.แรงงานคนใหม่ เพื่อดำเนินการให้ครบวงจร โดยจะเจรจากับนายจ้างต่างชาติให้จ่ายเงินเดือนผ่านธนาคารทั้งระบบ ซึ่งเงินจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายของแรงงาน 2.เงินที่ส่งกลับให้ทางบ้าน และ 3.เงินชำระหนี้ในโครงการกู้ยืม เพื่อให้แรงงานมีวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ไต้หวัน ซึ่งต้องจ่ายค่าบริการให้คำปรึกษาเดือนละ 3-4 พันบาท ทำให้รายได้ของแรงงานไทยลดลง ทั้งที่บางคนไม่จำเป็นต้องใช้ที่ปรึกษา โดยเรื่องนี้กระทรวงแรงงานจะไปเจรจากับทางไต้หวัน เพื่อขอจ่ายค่าปรึกษาเป็นครั้งคราว