xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” นั่ง ปธ.กนอช.ศูนย์กลางแก้น้ำท่วม ดึง กยน.กุนซือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ครม.ผุด คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) โดยให้นายกฯนั่งประธาน ถือเป็นการรวบอำนาจแก้ปัญหาน้ำท่วม ดึง กยน.เป็นกุนซือ พร้อมแบ่งงาน กทม.- 9 กระทรวง ร่วมขุดลอกคลองเมืองกรุง


วันนี้ (7 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างระเบียบนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำแลละอุทกภัยแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เสนอ โดยรูปแบบองค์กรบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ซึ่งมีหน้าที่ระดับนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี กยน.เป็นที่ปรึกษา 2.คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการ และดำเนินการอื่นๆ ตามนโยบายของ กนอช. สั่งการให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแผน กำกับดูแลและติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และ 3.สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (สนอช.) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้กับ กบอ.ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ กบอ.สามารถแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2554 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างระเบียบดังกล่าว ระบุว่า การจัดให้มีองค์กรหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะศูนย์กลางหลักในการบริหารจัดการน้ำและเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับอุทกภัยทั้งระบบ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน การสั่งการ และการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีความสอดคล้องในการอำนวยการบริหารจัดการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปปฏิบัติในทุกพื้นที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นางฐิติมา กล่าวต่อว่า ครม.รับทราบการแบ่งงานขุดลอกคูคลองในพื้นที่ กทม.ภายใต้การบูรณาการความรับผิดชอบระหว่าง กทม.และ 9 กระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในฐานะกรรมและเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) ทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.ร่วมกับ กยน.โดยจะขุดลอกคลองในพื้นที่ทั้งสิ้น 43 คลอง 48 รายการ ดังนี้ การแบ่งงานขุดลอกคลองหลัก 29 แห่งรวม 29 รายการ ได้แก่ 1.กทม.19 คลอง 2.กระทรวงกลาโหม 5 คลอง 3.กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง 4.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ 1 คลอง 5.กระทรวงสาธารณสุข 2 คลอง 6.กระทรวงแรงงาน 1 คลอง โดย กทม.โอนงบประมาณให้ส่วนราชการดำเนินการ

การขุดลอกคลองเพิ่มเติม 14 แห่ง และขยายความยาวของการขุดลอกคลองหลักเดิม 5 คลองรวม 19 รายการ ได้แก่ 1.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 คลอง 2.กระทรวงกลาโหม 10 คลอง 3.กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง 4.กระทรวงทรัพยากรฯ 2 คลอง 5.กระทรวงคมนาคม 1 คลอง 6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คลอง

นอกจากนี้ นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมในส่วนของความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านการเกษตร ว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.55 ซึ่งในวันนี้กระทรวงเกษตรฯได้เสนอต่อ ครม.โดยเมื่อวันที่ 25 ส.ค.54 และวันที่ 27 ธ.ค.54 รวมวงเงิน 27,070 ล้านบาท ขณะนี้คงเหลือกรอบวงเงิน 76 ล้านบาท หน่วยงานส่งเอกสารเพื่อขออนุมัติงบประมาณเกษตรกร 1,210,347 ราย วงเงิน 26,994 ล้านบาท สำนักงบประมาณอนุมัติให้ ธ.ก.ส.ช่วยเกษตรกร 1,131,467 ราย เป็นเงิน 25,451 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ได้โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 969,821 ราย วงเงิน 22,451 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรณีเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนโครงการรับจำนำตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ก.ย.54 ได้เห็นชอบเยียวยาเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 54 และปี 55 ที่เก็บเกี่ยวและขายผลผลิตช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.54 ก่อนโครงการรับจำนำเริ่มวันที่ 7 ต.ค.54 รวมทั้งกรณีที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากประสบอุทกภัยในอัตราตันละ 1,437 บาท ทั้งนี้ การช่วยเหลือด้านอื่นๆ ณ วันที่ 6 ก.พ.55 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปช่วยเหลือเกษตรกรตามขั้นตอน

นายชลิตรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำนักงบประมาณยังได้รายงานให้ ครม.รับทราบถึงการดำเนินงานค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณือุทกภัยหลังจากที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติรวม 6 ครั้ง งบประมาณทั้งสิ้น 1.39 แสนล้านบาท และสถานภาพตามที่ได้เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 31 ม.ค.55 และจัดสรรงบประมาณให้แล้วเป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท สำหรับกรอบวงเงินคงเหลือจากการจัดสรรได้พิจารณาทบทวนแล้วจะมีวงเงินที่ต้องพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมอีกจำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท แยกเป็นแผนงานและโครงการที่มีความพร้อมจัดสรร เป็นเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องขอรับการจัดสรรภายใน 1 สัปดาห์ และส่วนที่เหลือเป็นเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท ต้องขอรับการจัดสรรภายใน 2 สัปดาห์

นายชลิตรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว เป็นเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินจัดสรรเพิ่มเติมที่รายงานในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท สำหรับในช่วงที่ส่วนราชการที่ยังไม่ได้ขอจัดสรร ได้เวียนหนังสือเร่งรัด และแจ้งข้อมูลที่ต้องส่งประกอบการพิจารณา เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ซึ่งสำนักงบประมาณ ได้ใช้กระบวนการติดตามประเมินผล เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพความก้าวหน้าและการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้กำหนดแบบการติดตามความก้าวหน้าของโครงการโดยให้ส่วนราชการจัดทำพร้อมการขออนุมัติจัดสรรงบประมาณการฟื้นฟูเยียวยา และต่อมาได้ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายการค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งได้เวียนหนังสือแจ้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมสองครั้ง คือ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.55 และวันที่ 18 ม.ค.55 โดยในการจัดทำบันทึกข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ทตามแบบรายงานในเว็ปไซต์ ของสำนักงบประมาณรวมถึงทางสำนักงบประมาณได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวที่สำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา

นายชลิตรัตน์ กล่าวว่า สถานภาพในการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการ ใช่จ่ายงบประมาณปัจจุบันในส่วนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ณ วันที่ 31 ม.ค.55 เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้ว 4.9 sหมื่นล้านบาท ซึ่งจะแสดงแผนทั้งนิติส่วนราชการและนิติส่วนจังหวัด สำหรับส่วนที่ยังไม่ได้จัดทำแผน รวมถึงแผนที่มีการจัดสรรเพิ่มเติม ส่วนที่ยังไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณ ทางสำนักงานงบประมาณได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานงบประมาณจะรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้งบประมาณให้ทราบทุกสัปดาห์ต่อไป

นายชลิตรัตน์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว การดำเนินงานในลักษณะงบลงทุนจะต้องมีการดำเนินงานในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ ขั้นตอนการเตรียมการ ก็คือ ขั้นตอนการออกแบบและการประมาณราคา ขั้นตอนการประกวดราคาซึ่งขั้นตอนเซ็นสัญญาก่อนลงมือปฏิบัติ ในภาคสนามจะมีผลเบิกจ่ายซึ่งจากข้อมูลที่ทางสำนักงบประมาณรวบรวมได้มีรายการที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งสิ้น 3,466 รายการ มีรายการที่อยู่ระหว่างเตรียมการ 44 รายการ ซึ่งเป็นร้อยละ 1.27 ประกวดราคาแล้ว 1,794 รายการ หรือร้อยละ 51.76 เซ็นสัญญาเริ่มก่อสร้างแล้ว 1,628 รายการ คิดเป็นร้อยละ 46.97

นายชลิตรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับรายการที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมซึ่งจัดสรรให้แล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการเตรียมการและประกวดราคา แต่จากหนังสือของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุเมื่อวันที่ 6 ก.พ.กำหนดว่าหากไม่สามารถจัดหาจนได้พัสดุ หรือสิ่งก่อสร้างพร้อมใช้งบประมาณจำเป็นเร่งด่วนเพือ่ใช้ในการป้องกันอุทกภัยภายในเดือนเมษายนนี้ได้ หน่วยงานก็ชอบที่จะดำเนินการจัดหาโดยวิธีพิเศษ ดังนั้น การก่อสร้างทั้งหมดน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น